แปดแสนล้าน ภายในพริบตา

Fri, Dec 22, 2006

English | เศรษฐกิจ

แปดแสนล้าน  ภายในพริบตา

22 ธันวาคม 2549

ถ้าจะถามว่ามีเงินทุนไหลเข้า ช่วง 1 – 2 เดือนนี้ มากน้อยแค่ไหน หรือเปลี่ยนคำถามเสียใหม่ว่า ธนาคารชาติต้องเข้าไป กด ไม่ให้ค่าเงินบาท แข็งเกินความเป็นจริง โดยการแทรกแซง มากน้อยแค่ไหน คำตอบดูได้จากตัวเลขช่อง Net Forward Position ตารางล่างนี้ครับ ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง ตัวเลขนี้ถือเป็นความลับ บอกใครไม่ได้ วันนี้มีระบบที่ดีกว่า โปร่งใส ทำให้ผู้สนใจทั่วไป สามารถตรวจสอบการดำเนินนโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารชาติ ได้ดีพอควร อาจจะรู้ช้าไปหน่อย ตัวเลขเปิดเผยช้าไปประมาณ 10 วัน แต่ก็ ถือว่าใช้ได้ ครับ

table

เห็นได้ว่า ธนาคารชาติ นำเงินบาท ไปซื้อเงินเหรียญสหรัฐ สัปดาห์ละ 3-4 หมื่นล้านบาท เพื่อแทรกแซง น่าจะมากที่สุดเท่าที่เคยทำกันมาในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ธนาคารชาติต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง แต่ก็พอรับได้ ที่หนักใจก็คือ แทรกแซงแทบตายแล้วไม่ได้ผล ทำให้ธนาคารชาติต้องออกมาตรการอีกหลายมาตรการ แต่เงินบาทดื้อครับ กลับแข็งค่าขึ้นรายวัน พูดง่ายง่ายว่า เอาไว้ไม่อยู่

วันที่ 18 ธันวาคม 2549 ครับ ธนาคารชาติออกมาตรการเพื่อสกัดไม่ให้เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าประเทศ โดยกำหนดให้มีการเก็บสำรองเงินนำเข้า ไว้ที่ร้อยละ 30 ถ้าเงินดังกล่าวไหลออก ภายใน 1 ปี จะได้สำรองคืนเพียง ร้อยละ 20 เท่านั้น แต่ถ้าเงินนี้อยู่ในประเทศเกิน 1 ปี จะได้คืนครบ จำนวน เทียบได้ว่าเป็นมาตรการเก็บภาษี เงินร้อน ร้อยละ10 นั่นเอง

การแก้ปัญหา ควรดูที่สาเหตุ ทำไมเงินบาทจึงแข็งขึ้นทุกวัน เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ

ธรรมชาติของเงินจะไหลไปที่ที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด ช่วงนี้ไม่มีใครอยากถือเงินเหรียญสหรัฐ วิ่งหาตลาดที่ให้ผลตอบแทนดี และต้องเป็นตลาดที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ไว้ใจได้ เงินจากนักลงทุนที่ดีและจากนักเก็งกำไร จึงไหลเข้าตลาด ตราสารหนี้ของเรา มูลค่าการซื้อ ขาย ตราสารหนี้เดือน มกราคม ต้นปี 386,940.57 ล้านบาท เดือนพฤศจิกายน ปลายปี 860,527.59 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้น เกือบ 3 เท่าตัว

ผลตอบแทนของเงินคือ อัตราดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยได้มีการปรับตัวขึ้นไปพอควร ทำให้พันธบัตรของไทยราคาถูก (ผลตอบแทนสูง) นักลงทุนนอกจากจะหนีเงินเหรียญสหรัฐ เพราะมีแนวโน้ม อ่อนค่าลงแล้ว ยังได้กำไรจากการที่ค่าเงินบาทแข็งอีกต่างหาก เรียกว่ากำไรสองชั้นกันทีเดียวละ

AI-AH174_THAILA_20061220144023

ถ้ารัฐบาลมีนโยบายค่าเงินบาทอ่อน ก็ควรแก้ให้ถูกจุด ปรับผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ให้ต่ำลง หรือใกล้เคียงกับเพื่อนบ้าน ที่มีความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ ทัดเทียมกัน ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย เงินลงทุนน่าจะชะลอลง ทุกมาตรการไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีใครรับประกันว่า ค่าของเงินบาทจะอ่อน ลงทันที แต่ก็จะมีผลให้นักลงทุนตัวจริง ชะลอการลงทุน หรือหาแหล่งเงินทุนใหม่ พวก เก็งกำไรที่ชอบผสมโรง ก็ต้องระมัดระวังการเก็งกำไรค่าเงินบาท มากขึ้น

ธนาคารชาติกลัวปัญหาเงินเฟ้อ เพราะถ้าดอกเบี้ยลดลง และราคาน้ำมันยังไม่นิ่ง จะเอาเงินเฟ้อไว้ไม่อยู่ ผมว่า อย่ามัวดูแต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจ นั่งเฝ้ากันอยู่บนหอคอย เดินดินกันเสียบ้าง เศรษฐกิจวันนี้ ไม่ได้ดีอย่างที่คาดกันนะครับ ไปถามพ่อค้าแม่ขายทั่วไปดูบ้าง ก็น่าจะดี ลดดอกเบี้ย กระตุ้นการลงทุนกัน เพิ่มกำลังซื้อ อาจจะเหมาะกว่า อีกอย่างหนึ่ง ราคาน้ำมัน ไม่มีวันนิ่งหรอกครับ

วันที่ 19 ธันวาคม 2549 เป็นวันที่ ผู้บริหารธนาคารชาติ จะต้องจดจำไปอีกแสนนาน เพราะมาตรการเข้ม ที่ออกมาเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม นั้น ทำให้ตลาดหุ้นไทยย่อยยับลงภายในพริบตา ท่านอย่ามัวคิดว่านักลงทุนที่ซื้อ ขาย หุ้นในตลาด มีเพียงไม่กี่แสนราย ไม่น่าเป็นห่วง นักลงทุนเหล่านี้ ไม่ขายหุ้นก็ไม่ขาดทุน ถือยาวไว้ไม่ช้าราคาก็จะปรับเท่าเดิม คิดเท่านั้นไม่ได้ครับ

ต้องนึกถึง ผู้ประกอบการ ตั้งแต่ลูกจ้างตัวเล็กๆ ไปจนถึงผู้บริหารระดับสูงกรรมการบริหาร เขาเหล่านี้ทำงานหนัก เพื่อสร้างความเข็มแข็งให้กับบริษัท ให้กับองค์กร สร้างผลกำไร เพื่อหุ้นจะได้ปรับตัวสูงขึ้น ผู้ถือหุ้นได้รับประโยชน์ เหนื่อยกันแทบตาย ทำงานกันหลายปี กว่าจะมาถึงจุดนี้ วันนี้ทุกอย่างหายวับไป ภายในพริบตาเดียว

ลองไปฟังเสียงภายนอกดูกันบ้าง ว่า เขามองประเทศไทยอย่างไร

นาย เจมส์ ฮุคเวย์ เขียนลง Wall Street Journal เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม อ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ ของ Allen Conway, head of global emerging market equities at Schroeders Investment Management in London , คุณแอลแลน ใช้คำพูดว่า “ a massive loss of credibility ” for the government แปลว่า “ รัฐบาลสูญเสียความน่าเชื่อถืออย่างมหาศาล ”

John Bussey รองกรรมการผู้จัดการ Wall Street Journal เขียนไว้อย่างนี้ครับ

There’s a reason why they call them emerging markets.

Thailand just reminded us exactly why. Yesterday, the country announced a major new economic policy. By this morning Bangkok time, Thailand’s stock market had read the fine print and gone into cardiac arrest, burning investors worldwide, knocking $20 billion dollars off the value of Thai companies, and reminding everyone that no matter how many tours of duty the local bureaucrats do through the World Bank, the International Monetary Fund or other institutions of higher education, there’s still plenty of room for some truly inventive home-grown policy making.

ไม่ต้องแปลเป็นไทย ให้ช้ำใจไปกว่านี้

ผมไม่ใช่จะบ้าฝรั่ง แต่ผมยอมรับในโลกของความเป็นจริงว่า โลกเดียวนี้มันเล็กลงทุกวัน ประเทศกำลังพัฒนาอย่างเรา หันหลังให้กับนักลงทุนต่างชาติไม่ได้ จึงไม่แปลกที่เราได้เห็นท่านนายกรัฐมนตรี ใช้เวลาสองเดือนแรก เมื่อรับตำแหน่งใหม่ๆ ตระเวนไปต่างประเทศ ก็เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ไม่ใช่หรือ

เราต้องเริ่มถามตัวเองแล้วว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่เราจะต้องมีความกล้าหลายอย่าง กล้าเลิกเป็นผู้เฝ้าดูแล (guardian ) อัตราแลกเปลี่ยน อย่างงมงายเสียที กล้าปล่อยให้มีการนำเงินบาทออกนอกประเทศอย่างเสรี จะได้มีตัวเลขเงินทุนสำรองที่แท้จริง เปิดโอกาสให้คนเก่ง คนมีฝีมือ ไม่จำกัดอายุ ที่มากด้วยประสบการณ์มาเป็นผู้ว่าการธนาคารชาติ เพื่อจะได้ทำงานอย่างมีอิสระ อย่างเต็มที่ ทุกคนนอนตาหลับได้

มีคนถามหา ว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ใครรับผิดชอบ ธรรมเนียมไทยไทยครับ คงจะหาคนกล้าแสดงความรับผิดชอบยากเต็มที เอาเป็นว่า จากนี้ไป จะดำเนินนโยบายอะไร ขอให้มีความรอบคอบเสียหน่อย คิดให้ครบ ฟังความเห็นผู้อื่นบ้าง อย่าลืมว่า บทเรียนครั้งก่อน ที่เศรษฐกิจล่มสลาย เพราะอุ้มค่าเงินบาท ยังไม่ทันได้ลืมกันเลย เอาอีกแล้ว ธนาคารชาติของผม สงสารประเทศกันบ้างครับ

แบ่งปันเรื่องราว:
  • Print
  • del.icio.us
  • Facebook
  • email
  • PDF
  • Twitter

Tags: ,

Comments are closed.

Twitter

TwitPic

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
Korbsak.com
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ค้นหา