ยุทธศาสตร์ทางออก (Exit Strategy)

Sun, Feb 14, 2010

English | เศรษฐกิจ

ยุทธศาสตร์ทางออก  (Exit Strategy)

เมื่อเริ่มพูดเรื่องทางออก  ก็ต้องกลับไปดูช่วงทางเข้า  จะเริ่มคิดว่าออกทางไหน  ออกอย่างไรจึงจะดี  ต้องกลับมาสำรวจตัวเองก่อนว่าหลวมตัวหลุดเข้ามาอีท่าไหนก่อน

ผมกำลังคุยเรื่องของวิกฤติเศรษฐกิจโลก  วิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ

เขียนเรื่องนี้ระหว่างช่วงวันแห่งความรัก     คนที่หลวมตัวหลุดเข้ามาในวงจรแห่งความรัก  อาจใช้หลักคิดเดียวกันเพื่อเป็นยุทธศาสตร์ในการหาทางออกโดยไม่เจ็บตัวมากเกินไปนัก   ก็ไม่ว่ากัน  ไม่สงวนลิขสิทธิ์ครับ

ปีที่แล้วเศรษฐกิจของประเทศมหาเศรษฐีทั้งหลายล่มสลายกันถ้วนหน้า  ส่งผลกระทบไปทั่วโลก   ช่วงนั้นทุกประเทศทุกรัฐบาลกุมขมับ  ต้องเร่งหาวิธีแก้ปัญหา     แต่ละประเทศประสบปัญหาที่แตกต่างกัน   ยุทธ์ศาสตร์การแก้ปัญหาจึงแตกต่างกันไป  แต่ถ้าดูในทางลึกแล้วจะเห็นว่าการแก้ปัญหาของแต่ละประเทศคล้ายกันมาก  หลายประเทศเกือบจะเหมือนกันทีเดียว

ประเทศที่เป็นตัวการคือสหรัฐฯอาการหนักกว่าเพื่อน   เพราะวิกฤติเริ่มจากการล่มสลายของสถาบันการเงิน   วิกฤติจากตลาดทุน (Wall Street) ลามไปสู่ภาคธุรกิจที่แท้จริง (Real Economy – Main Street) ทำให้เศรษฐีจนลง  เงินในกระเป๋าน้อยลง   กำลังซื้อหดหาย

กระทบไปทั่วโลก  พ่อค้า นักธุรกิจ  เกือบทุกสาขา  ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว  การส่งออก  อุตสาหกรรมยานยนตร์  อาการหนักกันไปหมด ค้าขายไม่ได้  เกิดการว่างงาน คนเคยมีงานทำ  ถูกออกจากงาน  ที่ยังมีงานอยู่  ก็ได้แต่กังวลว่าเมื่อไหร่จะถูกให้ออก   ทำให้รายได้ประชาชนหดหาย  เงินในกระเป๋าลดน้อยลง  มีเงินก็ไม่กล้าใช้จ่าย   กำลังซื้อหดหาย  กลายเป็นวงจรอุบาททันที

ประเทศแถบเอเชียโชคดี  ปัญหาหรือวิกฤติทางการเงินยังไม่เกิด    น่าจะเป็นเพราะมีประสบการณ์จากโรคต้มยำกุ้ง  ฝีมือคนไทยที่ฝากไว้ให้กับชาวโลกเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว   เที่ยวนี้เลยโดนหางเลขเฉพาะผลกระทบที่เกิดจากกำลังซื้อที่หดหายไปเท่านั้น

พวกเราที่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ   ไม่ใช่นักวิชาการ  ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์  เริ่มได้รู้จักคำว่า  มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า Stimulus Package   เวลาผ่านไปหนึ่งปี   มีศัพท์ใหม่ให้ได้รู้จักเพิ่มขึ้น เป็นภาษาฝรั่งเรียกว่า Exit Strategy

ย้อนกลับไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา  รัฐบาลวางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ต่างจากมาตรการของประเทศอื่นมากนัก  ใช้แนวทางเดียวกันคือให้ภาครัฐฯนำเงินมาใช้จ่ายแทนที่ภาคเอกชนเป็นการชั่วคราว  ตอนนั้นผมรับผิดชอบงานด้านเศรษฐกิจ   แบ่งมาตรการการกระตุ้นเป็นสองจังหวะ       ผมตั้งชื่อใช้คำย่อว่า SP และเรียกง่ายๆว่า SP1 และ SP2 (ไม่ใช่  Service Pack ของ Window นะครับ)

SP1 เป็นการนำเงินจากรัฐเข้าสู่ระบบโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และให้รั่วไหลที่น้อยที่สุด  ส่วน SP2 ใช้เงินสำหรับโครงการระยะปานกลางและถาวรเพื่อสร้างงานและเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับประเทศ  ภาษาง่ายๆคือให้คนไทยเก่งขึ้น   เรียนเก่งขึ้น (การศึกษา)  ฉลาดคิดฉลาดทำ (เศรษฐกิจสร้างสรรค์)  เป็นนักประดิษฐ์ (งานวิจัย) ลดต้นทุนขนส่ง (ลอจิสติค) เกษตรกรเข้มแข็ง ( ประกันรายได้) ฯลฯ

SP1 ใช้เงินไปประมาณ 100,000 ล้านบาท  SP2 เตรียมที่จะใช้ปีละ 400,000 ล้านบาท 3 ปีติดต่อกัน

เงินจากSP1 ทยอยออกประมาณต้นเดือนมีนาคม (40,000 ล้านบาท  จากมาตรการ 2,000 บาท มาตรการเรียนฟรี และโครงการต้นกล้า)  ช่วงแรกของไตรมาสที่ ๓ ของปี ประมาณเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๒  ตัวเลขการว่างงานเริ่มดูดีขึ้นมาก จากที่สุดเลวร้ายคือเกือบ 800,000 คนในเดือนมกราคม

SP2 เริ่มมีการใช้เงินประมาณ 30,000 ล้านบาทจากโครงการประกันรายได้  การจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากตัวเลขรายได้ทางภาษี    กระทรวงการคลังคาดว่าจะต้องใช้เงินเพื่อปิดหีบงบประมาณ 200,000ล้านบาท  กลายเป็นจะใช้เพียง 50,000 ล้านบาทเท่านั้น

ตัวเลขทางเศรษฐกิจตลอดทั้งปีจึงติดลบเพียง 2.7 จากที่หลายสำนักรวมถึงนักวิจารณ์ นักวิเคราะห์ เคยบอกว่าอาจจะถอยไปติดลบถึง 4 ถึง 5

ปีหน้ารัฐบาลคาดว่าจะสามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างแน่นอน  กำลังดูว่าน่าจะทำให้ยืนอยู่ได้ในแดนบวกที่ 4-5

แปลว่าทุกอย่างกลับสู่สภาพปกติแล้วหรือไม่   ถ้าจริง  จึงมีคำถามต่อว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ SP1  SP2 จะเดินหน้าต่อหรือเปล่า  (SP 1 คงไม่ต้องพูดถึงเพราะผ่านไปแล้ว  ที่เหลือและเพิ่งจะเริ่มคือ SP 2)

ที่ต้องถามกันเพราะความกลัว   เนื่องจากมาตรการที่ว่านี้ต้องใช้เงินมาก  และที่สำคัญคือเงินที่ต้องนำไปใช้ก็ไม่มี ต้องกู้มาทั้งสิ้น   กู้มามากๆ   อนาคตจะเอาปัญญาหาเงินที่ไหนมาใช้หนี้    ลูกหลานไม่เดือดร้อนกันไปหมดหรือ

เป็นคำถามที่ประชาชนของทุกประเทศเขาถามผู้นำประเทศเหมือนกันหมดครับ  เราจึงเริ่มเห็นบางประเทศวางแผนยุทธ์ศาสตร์ทางออก (Exit Strategy) กันแล้วครับ

บางประเทศไม่ได้แค่วางแผน  แต่เริ่มลุยเลยก็มี

ประเทศออสเตรเลียเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต้นเดือนตุลาคมครับ  ส่วนประเทศอินเดียเริ่มเข้มงวดมาตรการทางการเงินมากขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน  แต่ยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ประเทศจีนเข้มงวดการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินมากขึ้นเมื่อต้นปีนี้เอง  จีนมีท่าทีว่าจะยอมให้ค่าเงินหยวนของจีนที่ผูกติดกับดอลล่าห์สหรัฐมีความยืดหยุ่นมากขึ้นภายในอนาคตอันใกล้นี้  แปลความหมายว่าจะยอมให้ค่าเงินปรับแข็งขึ้น (เดิมจีนใช้นโยบายเงินอ่อนเพื่อช่วยการส่งออกในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี )

แล้วประเทศไทยมียุทธ์ศาสตร์ทางออกอย่างไร

ทำอย่างนี้ครับ

โครงการของ SP2 ควรคงไว้ตามเดิม  แต่ปรับปรุงแหล่งที่มาของเงินใหม่  เพื่อเข้มงวดการใช้เงินกู้ไม่ให้กู้เกินกว่าที่จำเป็น  ย้ายโครงการส่วนที่เดิมจะเป็นการใช้เงินนอกงบประมาณและเหมาะสมที่จะใช้เงินในงบประมาณได้มาเป็นการใช้เงินในงบประมาณทั้งหมด    ตัวเลขน่าจะอยู่ที่ปีละ 100,000 กว่าล้านบาท

ส่วนที่เหลือที่เป็นโครงการของรัฐวิสาหกิจ โครงการด้านลอจิสติค ต้องเดินหน้าทำต่อ   ไม่ว่าจะเป็นรถไฟรางคู่  รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ  – ระยอง  ถนนสีเลน  รถไฟฟ้าใต้ดิน ขยายสนามบินและ Airport Link เป็นต้นแต่ควรเชิญชวนเอกชนให้มาลงทุนได้

สำหรับนโยบายการเงินที่มีคนเริ่มวิจารณ์กันมากขึ้น   เรื่องของค่าของเงินบาทหรือเรื่องของอัตราดอกเบี้ย   ความเห็นส่วนตัว   ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยครับ   หน้าที่ใครหน้าที่มัน  โดยเฉพาะเรื่องค่าเงินบาท   ดูจะกังวลกันมาก  เพราะกลัวเรื่องของการส่งออกที่ต้องการให้ค่าเงินบาทอ่อน

ความจริงปัญหาบ้านเรามีมาก   โครงสร้างเศรษฐกิจของโลกก็เปลี่ยนไปพอสมควร อาจถึงเวลาที่เราต้องกลับมาพิจารณา  ทบทวนยุทธศาสตร์ทิศทางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกันใหม่เสียที

คำถามที่ต้องหาคำตอบให้ได้ชัดคือ  ประเทศไทยจะวางยุทธ์ศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศอย่างไร

เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือให้คนส่วนใหญ่ของประเทศได้มีความสุขโดยถ้วนหน้าและทัดเทียมกัน

ขอคุยต่อเรื่องนี้สัปดาห์หน้าครับ


แบ่งปันเรื่องราว:
  • Print
  • del.icio.us
  • Facebook
  • email
  • PDF
  • Twitter

Tags:

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

Twitter

TwitPic

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
Korbsak.com
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ค้นหา