โกงซึ่งหน้า แก้สัญญามือถือ

Sun, Feb 7, 2010

English | ทักษิณ

โกงซึ่งหน้า แก้สัญญามือถือ

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีของรัฐบาลนายกฯทักษิณ หลังจากที่ ได้ บริหารประเทศมาได้ ๒ ปี ผมได้เห็นเรื่องที่ “น่าเกลียด” อย่างมากเกิดขึ้นในระหว่างการบริหารงานของรัฐบาลนี้

น่าเกลียดอย่างไร

ทุกคนรู้ดีอยู่ว่า “ความร่ำรวย” ที่เกิดขึ้นของครอบครัวนายกรัฐมนตรีนั้น มาจากการทำธุรกิจ ที่ท่านดำเนินกิจการมาก่อนหน้าที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนมาเป็นนักการเมือง ไม่เชื่อเลยว่า มีมากขนาดนั้นแล้ว ยังไม่เพียงพออีกหรือ

ผมจะฉายภาพให้เห็นความน่าเกลียดที่ว่าก็คือ บริษัทที่ทำรายได้หลักของนายกฯทักษิณ ที่มีสัญญาสัมปทานกับรัฐ คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือรู้จักกันดีว่า AIS ซึ่งผมไปพบว่ามีการแก้ไขสัญญาเพื่อเอื้อให้บริษัท AIS ได้ผลประโยชน์มากขึ้น

เดิมที บริษัท AIS ได้สัญญาสัมปทานกับรัฐบาลไทยในระยะเริ่มต้น ๒๕ ปี แต่ได้มีการแก้ไขสัญญาในเวลาต่อมาเพื่อยืดไปเป็น ๓๐ ปี เมื่อผมอ่านเอกสารก็พบว่ามีการแก้ไขสัญญากันจริงในเดือนกันยายน ๒๕๓๙ เป็นช่วงรัฐบาลรักษาการก่อนการเลือกตั้ง เขาชอบทำกันอย่างนี้ครับ ช่วงเลือกตั้ง ช่วงรักษาการณ์ เพราะไม่มีใครคอยตรวจสอบในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ขณะนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชื่อวันมูหะมัดนอร์ มะทา ครับ

และเป็นช่วงที่นายกรัฐมนตรีชื่อ บรรหาร ศิลปอาชา

หลังจากมีการยืดสัญญาสัมปทานจาก ๒๕ ปี เป็น ๓๐ ปีแล้ว ก็ยังมีการแก้ไขสัญญากันอีกหลายครั้ง แต่เป็นเรื่องไม่กระทบต่อรายได้ขององค์การโทรศัพท์ จึงสามารถดำเนินการได้ในระดับคณะกรรมการขององค์การโทรศัพท์

แต่การแก้ไขสัญญาสัมปทานครั้งที่เป็นปมสำคัญที่สุด และมีผลกระทบกับรายได้ของรัฐ ที่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มากและน่าเกลียดมากก็คือ คณะกรรมการองค์การโทรศัพท์ ได้ให้ความเห็นชอบการแก้ไขสัญญาสัมปทาน โดยที่ไม่ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี

การแก้ไขสัญญาครั้งนี้ทำเมื่อ วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ในระหว่างที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร !!!

เรื่องนี้มีอยู่ว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติเปลี่ยนผู้บริหารองค์การโทรศัพท์ใหม่ทั้งหมด ผมไม่อยากจะบอกว่าเป็นการตระเตรียมกันไว้ล่วงหน้า บอร์ดองค์การโทรศัพท์ชุดใหม่ได้อนุมัติให้มีการแก้ไขสัญญาสัมปทาน ในส่วนของรายได้ที่บริษัท AIS ต้องส่งให้กับองค์การโทรศัพท์

รายได้ในส่วนนี้เรียกว่า รายได้ที่เกิดขึ้นจากระบบพรีเพด คือระบบที่มีการจ่ายเงินล่วงหน้าก่อนใช้บริการ หรือโทรศัพท์ วัน ทู คอล นั่นเอง

วัน ทู คอล นี้เพิ่งเกิดขึ้น และเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีใครคาดอยู่เหมือนกัน ว่าจะมีผู้นิยมใช้บริการมากมายถึงขนาดนี้

ดูตัวเลขเฉพาะปี ๒๕๔๕ ปรากฏว่ามีผู้ใช้บริการ วัน ทู คอล ถึง ๘,๐๐๐,๐๐๐ ล้านกว่าราย เทียบกับระบบปกติที่โทรก่อนแล้วจ่ายเงินทีหลัง ซึ่งเป็นระบบที่พวกเราคุ้นเคยและใช้กัน บริษัท AIS มีผู้ใช้บริการเพียงประมาณ ๒ ล้านรายเท่านั้น

ดังนั้น รายได้ที่เกิดขึ้นจากระบบ วัน ทู คอล มาถึงปัจจุบันนี้น่าจะมีลูกค้าถึง ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ รายแล้วครับ มีตัวเลขรายได้ประมาณ ๓๕๐ – ๔๐๐ บาทต่อราย ต่อเดือน

มูลค่านี้ถ้าคิดเป็นรายได้ต่อปีจะตกประมาณเกือบ ๔๐,๐๐๐ ล้านบาท !!!

ถ้าเป็นไปตามสัญญาเดิมก่อนมีการแก้ไขสัญญา AIS ต้องจ่ายค่าสัมปทานให้กับองค์การโทรศัพท์ร้อยละ ๒๕ คิดง่ายๆอยู่ที่ประมาณ ๑๐,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี

นั่นหมายความว่า AIS มีรายได้จากระบบ วัน ทู คอล ปีละ ๔๐,๐๐๐ ล้านบาท ต้องจ่ายให้หลวงปีละ ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท แต่วันดีคืนดี พอพ.ต.ท.ทักษิณมาเป็นนายกรัฐมนตรี บริษัท AIS ก็มาขอแก้ไขสัญญาส่วนนี้ โดยบอกว่าขอแก้ไขจากที่เคยจ่ายให้หลวงร้อยละ ๒๕ นั้น ขอลดลงเหลือร้อยละ ๒๐ ได้ไหม

คณะกรรมการขององค์การโทรศัพท์ก็น่ารักจริงๆ อนุมัติให้เลยครับ อนุมัติแบบเงียบๆไม่มีใครรู้เรื่องด้วย จนกระทั่งมีการนำเรื่องนี้ไปพูดจากันในสภา ในช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ

แต่เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบจาพ.ต.ท.ทักษิณที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลครับ ว่าบอร์ดองค์การโทรศัพท์ใช้อำนาจอะไรที่จะไปแก้ไขสัญญา จนทำให้รัฐเสียเปรียบอย่างนี้

ผมลองคำนวณรายได้ที่หดหายไปให้ดู ถ้าตั้งสมมุติฐานว่า AIS มีรายได้ปีละ ๔๐,๐๐๐ ล้านบาท จากที่รัฐพึงจะได้รับปีละ ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท เมื่อลดไป ๕ เปอร์เซ็นต์ จากร้อยละ ๒๕ เป็นร้อยละ ๒๐ จึงทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไป ๒,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี คำนวณต่อไปอีก สัญญาสัมปทานนี้จะสิ้นสุดในปี ๒๕๕๘ รวมเวลา ๑๓ ปี นั่นเท่ากับปีหนึ่ง ๒,๐๐๐ ล้านบาทคูณกับ ๑๓ ปี ตัวเลขที่รัฐต้องเสียรายได้ไปก็จะอยู่ที่ ๒๖,๐๐๐ ล้านบาทครับ

คำตอบที่ได้ฟังจากรัฐมนตรี ระหว่างการชี้แจงในสภาก็คือ บริษัทอื่นเขาก็แก้ไข ไม่ได้ผิดปรกติอะไร แต่ไม่ได้บอกความจริงทั้งหมดว่าบริษัทอื่น เขาแก้ไขสัญญาเรื่องอะไร และไม่ได้ขอแก้ที่ทำให้รัฐเสียเปรียบ

นั่นเท่ากับ การแก้ไขสัญญาของบอร์ดองค์การโทรศัพท์ครั้งนี้ ได้ทำให้ บริษัท AIS ของครอบครัวนายกฯทักษิณมีรายได้เพิ่มขึ้นมหาศาล อย่างน้อยก็ ๒๖,๐๐๐ ล้านบาท ตลอดอายุสัมปทาน อย่างนี้ไม่เรียกว่าผลประโยชน์ทับซ้อนแล้วจะเรียกว่าอะไรครับ . . . . โกงซึ่งหน้า ได้ไหมครับ

แบ่งปันเรื่องราว:
  • Print
  • del.icio.us
  • Facebook
  • email
  • PDF
  • Twitter

Tags: , ,

Comments are closed.

Twitter

TwitPic

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
Korbsak.com
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ค้นหา