ห้ามกระพริบตา – Director’s cut

ห้ามกระพริบตา – Director’s cut

ก่อนชมหนังเรื่องนี้จะขอให้ท่านหลับตาก่อนครับ   ท่านผู้อ่านลองหลับตานึกภาพดูว่า   ถ้าวันนี้ชาวนาไทยเกือบ 5 ล้านครอบครัว ทำนาแล้วไม่รู้จักคำว่าขาดทุนติดต่อกันซัก 3-4 ปี    เศรษฐกิจไทยจะก้าวกระโดดไปไกลแค่ไหน หลับตาแล้วจะงีบต่ออีกซักนิดก็ไม่ว่ากันครับเพราะอาจได้ฝันดี   เห็นภาพครอบครัวชาวนาไทยมีรายได้ติดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าคนชั้นกลางของประเทศเสียที

ตื่นมาพบกับชีวิตจริงว่า  คำว่ากำไรอยู่คู่กับคำว่าขาดทุน      คนค้า คนขาย นักธุรกิจ ต้องพร้อมที่จะยินดีกับคำว่ากำไรและยอมรับคำว่าขาดทุนเท่าๆกัน    ชาวนาก็เป็นนักธุรกิจเช่นกัน  จัดอยู่ในระดับ xxxs (ซุปเปอร์จิ๋ว) เป็นส่วนใหญ่     การที่รัฐบาลจะมีนโยบายช่วยชาวนาให้ทำนาได้กำไร ทุกปี ทุกคน  ถือว่าเป็นงานที่แสนยาก    นักวิชาการบางท่านจึงไม่เชื่อว่ารัฐบาลนี้จะทำได้    เราจึงได้ยินคำว่า “ดีแต่โม้” ไงครับ

2-3 เดือนที่ผ่านมา พตท.ทักษิณผู้คิด  สั่งให้น้องสาวตระเวนฉายหนังตัวอย่างนโยบายนี้ไปทั่วประเทศ

โฆษณาแบบเสียงดังฟังชัดว่า   ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะประกาศราคาข้าวเปลือกล่วงหน้าก่อนฤดูทำนา    ชาวนาขายข้าวเปลือกไม่ได้ตามราคาที่ประกาศ   รัฐบาลพร้อมซื้อทุกเม็ด  ไม่จำกัดจำนวน

ชาวนาได้ชมหนังตัวอย่างแล้วคิดในใจว่า เทวดามาโปรดฉันแล้ว จากนี้ไปทำนาไม่มีคำว่าขาดทุน   ทำให้ฉันอดนึกถึงโครงการรับจำนำของทักษิณสมัยก่อนไม่ได้    จำได้ว่าสมัยนั้นฉันไม่ค่อยจะได้โควต้า เส้นสายไม่มี     แต่วันนี้เขาบอกว่าเขาปรับปรุงโครงการใหม่แล้ว ชาวนามีข้าวขายเท่าไหร่ รัฐบาลรับซื้อหมดทุกเม็ด สุดยอดทีเดียว (ผู้คิดนโยบายแอบคิดในใจว่า หนังเรื่องนี้ คนดูพอใจล้นหลาม เลือกตั้งน่าจะชนะขาด)

หนังจะเริ่มฉายแล้วครับ เริ่มวันที่  7 ตุลาคมนี้   ท่านผู้อ่านไม่มีทางเลือกนะ  จะเมินหน้าหนีไม่ดูก็ไม่ได้ เพราะหนังเรื่องนี้เขาใช้เงินภาษีของท่านไปสร้าง   ต้องตามดูให้จบและห้ามกระพริบตากันทีเดียว

ย้อนกลับไปวันก่อนคุยให้ฟังว่า  ตัวละครในหนังเรื่อง “จันทร์เจ้าขา ขอข้าว ขอ…”  มีอยู่ด้วยกัน 3 ตัวละครหลักชาวนา โรงสี พ่อค้า สำหรับรัฐบาลนั้น  เป็นผู้กำกับครับ

รัฐบาลเปิดฉากโดยการกำหนดราคาข้าวเปลือก 15,000 บาทต่อตัน  ข้าวหอมมะลิ 20,000 บาทต่อตัน (ไม่บิดพริ้ว ราคาเป็นไปตามที่ได้เคยฉายหนังโฆษณาไว้ทุกประการ)

ชาวนาหน้าบานครับเมื่อได้ทราบข่าว   โรงสี พ่อค้า บางกลุ่มก็หน้าบาน บางกลุ่มก็หน้าหุบ   แต่ก็สุมหัวปรึกษาหารือกันแล้วมีคำตอบไปยังรัฐบาล

เริ่มที่ปลายทาง  พ่อค้าบอกรัฐบาลกำหนดราคาข้าวเปลือกที่ 15,000 บาทต่อตัน   ถ้าจะซื้อข้าวเปลือกในราคาที่ประกาศ ผมต้องปรับราคาขายข้าวสารอีกประมาณร้อยละ 20 ถึงจะอยู่ได้   ผู้บริโภคโวยวายแน่    กระทรวงพานิชย์จะยอมให้ผมขึ้นราคาไหม   ถ้าไม่ยอม ผมค้าขายไม่ได้หรอกครับ

และถ้าจะให้ส่งข้าวสารไปขายต่างประเทศ  ตอนนี้เขาขายกันเพียง $500 – 600 ต่อตัน   ถ้าต้นทุน 15,000 บาท ก็ต้องขายประมาณ $800 ต่อตัน  จนปัญญาเช่นกัน ไม่รู้จะหาคนซื้อจากไหน

โรงสีเสริมต่อทันทีว่า   ถ้าผู้ส่งออกไม่ซื้อข้าวสารจากผม  ผมก็ซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาไม่ได้ในราคาที่รัฐบาลประกาศเช่นกัน

โรงสีเก่งพูดต่อว่า  แต่ผมมีทางออกนะ  รัฐบาลรับซื้อข้าวเปลือกทั้งหมดจากชาวนาแล้วจ้างผมสีก็แล้วกัน   ถ้าไม่มีโกดังเก็บ เช่าโกดังผมก็ได้ ผมคิดค่าสีข้าวเปลือก   ค่าเช่าโกดังเก็บข้าวสารในราคาที่ย่อมเยาเพราะผมอยากช่วยชาติ ช่วยชาวนา (ท่านผู้อ่านแอบยิ้มในใจหรือเปล่า)

ผู้ส่งออกเสริมต่อ  ไม่เลวครับวิธีนี้   เมื่อซื้อจนโกดังเต็ม   ผมได้ order ส่งออกมา ก็ช่วยขายข้าวสารให้ผม  แต่ต้องขายในราคาที่ผมสามารถแข่งขันกับประเทศส่งออกอื่นๆได้นะ    รัฐบาลขายถูกกว่าต้นทุน รัฐบาลขาดทุนไม่เป็นไรใช้เงินภาษีมาชดเชยได้  ถือว่าเป็นการช่วยชาวนาก็แล้วกัน (ผู้เสียภาษีว่าไงครับ  ยกมือขึ้น)

รัฐบาลฟังแล้วตอบรับข้อเสนอทันที  ท่านผู้อ่านดูหนังเรื่องนี้เพลินๆ อาจเผลอหลับไปได้   แต่ถ้าเห็นตัวเลขที่ผมเอามาให้ดู คงหลับไม่ลง ตาสว่างหรือไม่ก็ตาค้างไปเลย

ปีนี้คาดว่าชาวนาจะผลิตข้าวนาปีได้ 24.3 ล้านตัน   นาปรังได้ 10.1 ล้านตัน รวมทั้งสิ้น 34.4 ล้านตัน   น้ำท่วมหนัก ไร่นาเสียหายแต่ตัวเลขรวมไม่น่าจะผิดไปจาก 30 ล้านตัน    รัฐบาลประกันราคาที่ 15,000  - 20,000 บาทต่อตัน ใช้เงินซื้อข้าวเปลือกประมาณ 30 ล้่านตัน* 16,000 บาทเฉลี่ยต่อตัน = 500,000 ล้านบาท ตัวเลขกลมๆ

ห้ามกระพริบตา   ดูต่อเพราะรัฐบาลจะใช้เทคนิคบริหารการเงินอย่างนี้ครับ

ครม.อนุมัติวงเงินให้ธกส.นำไปใช้ในการรับซื้อข้าวเปลือกรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ   เริ่มต้นด้วยวงเงิน 100,000 ล้านบาทในครั้งแรก  และทยอยขอเพิ่มเป็นช่วงๆ (ต้องจับตามองว่าขออนุมัติกี่ครั้งและใช้วงเงินทั้งหมดเท่าไหร่ตลอดปีเพาะปลูก)

จะมีเงินไหลออกและไหลเข้าผ่านบัญชี  หน้าตาเป็นอย่างนี้ครับ

เงินไหลออกมี 1.ค่าข้าวเปลือกจ่ายชาวนา (จุดรั่วไหลคือชาวนาตัวจริง? ไม่เป็นข้าวหมุนเวียนหรือมาจากเพื่อนบ้าน?) 2. ค่าสีข้าว จ่ายโรงสี 3. ค่าเก็บข้าว จ่ายโกดังเอกชน จ่ายอตก. จ่ายอคส. (แพง แพง แพง)  4. ค่าดอกเบี้ย ค่าบริหาร ธกส. 5. ค่าจ้าง surveyor ฯ

เงินไหลเข้ามี 1. รายได้จากการนำข้าวที่ซื้อไว้ขายให้พ่อค้าส่งออก (ขายราคาถูกกว่าทุน เพื่อผู้ส่งออกจะได้แข่งขันในตลาดโลกได้)  2. ขายให้พ่อค้าขายในประเทศ (ขายถูกเพื่อไม่ให้ประชาชนซื้อข้าวแพงเกินไป)  3. รายได้จากการทำข้าวถุงขาย  4. รายได้จากรัฐบาลเจรจาขายต่างประเทศในรูปแบบรัฐฯต่อรัฐฯ

ประเด็นสำคัญเพื่อเรียกแขก  ไม่ให้เสียลูกค้าและตลาดข้าวปั่นป่วนมากเกิน    รัฐบาลคงยอมขาดทุน งานนี้เป็น zero sum game แปลว่า ขาดทุนเท่าไหร่ก็มีคนกำไรเท่านั้น  คนที่รับภาระนำเงินมาชดเชยการขาดทุนมีกลุ่มเดียวคือผู้เสียภาษี    ส่วนกลุ่มที่ได้กำไรคือ ตัวละครทั้งสามรวมทั้งผู้กำกับครับ

ที่แสบๆคันๆ คือกว่าจะรู้ว่าบัญชีนี้มีเงินเข้ามากกว่าออก  หรือมีเงินออกมากกว่าเข้า  ก็ต้องรอให้ปิดบัญชี สำหรับโครงการนี้เงินออกมากกว่าเงินเข้าแน่นอน   เชื่อขนมกินได้ว่าจะขาดทุน  ผมคาดว่าอย่างน้อยปีครึ่งถึงจะได้เห็นตัวเลขขาดทุน

ถามว่าจะขาดทุนซักเท่าไหร่  เดายากนะ เก่งสุดอาจขาดทุนร้อยละ 20 คิดเป็นเงินก็แสนล้านบาทบวกลบ เฉพาะปีเดียวนะครับ เงินจำนวนนี้สร้างรถไฟฟ้าใต้ดินได้สองสายมั้ง ที่สุดยอดกว่านั้นคือรัฐบาลจะใช้วิธิจัดงบประมาณเพื่อใช้หนี้ธกส.โดยการผ่อนส่ง   สมมุติขาดทุนแสนล้านก็ตั้งจ่ายงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินไว้ปีละหมื่นล้านหรือมากกว่า ผ่อนไปเรื่อยๆครับ   ท่านผู้อ่านไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าจ่ายเท่าไหร่ เมื่อไหร่ ถ้าไม่ติดตาม   เท่าที่ทราบรัฐบาลในอดีตค้างเงินธกส.สะสมมากว่าแสนล้านบาทจากโครงการรับจำนำอันลือชื่อลักษณะอย่างนี้

ถามผมวันนี้ว่ารัฐบาลเดินหน้าต่อไหม   ผมเชื่อว่าเดินหน้าต่อครับ ทำได้ ไม่ “ดีแต่โม้” อย่างแน่นอน ทำได้เพราะยังไม่ต้องใช้เงินงบประมาณ เพียงให้ครม.อนุมัติเงินกู้จากธกส.ในการเดินหน้าโครงการ ทำทุกปีคงไม่ได้ ทำได้ครั้งเดียว ปีเดียวครับ เรียกว่าขายผ้าเอาหน้ารอดก็คงไม่ผิด

ขณะที่ผู้เสียภาษีติดตามหนังเรื่องนี้ไป ใบ้กินไป   ผู้กำกับโพ้นทะเลโน้นนั่งจิบไวน์อย่างสบายอารมณ์  คิดในใจว่ากลุ้มไปทำไมกัน นโยบายทำปีเดียวก็พอ กว่าจะรู้ว่าขาดทุน กำไร เท่าไหร่   รัฐบาลก็เปลี่ยนโฉมไปแล้ว รัฐบาลใหม่ นโยบายใหม่ ไม่ต้องรับผิดชอบเรื่่องของรัฐบาลเก่า คิดมากไปได้   และอีกนานเกินปีจึงจะถึงวันนั้น  เราเองก็ได้กลับประเทศไทย ไม่ต้องติดคุก  ทุกอย่างก็เรียบร้อยไปแล้ว สุดยอดไหมละเพื่อน

ให้ rating หนังเรื่องนี้อย่างไงดีครับ

(มีอีกครับ… นโยบายประกันรายได้ เรื่องของมันสำปะหลัง เรื่องข้าวโพด และตัวเลขขายข้าวแบบสุดขาดทุน เพื่อชาวนา!!)

แบ่งปันเรื่องราว:
  • Print
  • del.icio.us
  • Facebook
  • email
  • PDF
  • Twitter

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

Twitter

TwitPic

    " width="70" height="70" style="margin: px; border: 1px solid cccccc;" class="twitpic" />

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
Korbsak.com
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ค้นหา