ทางรอดเกษตรกรไทย

ทางรอดเกษตรกรไทย

“ กอร์ป คุณเชื่อผมไหม ชาวนาเนี๋ยน่าสงสารที่สุด เริ่มทำนาโดยไม่รู้เลยว่าข้าวที่จะออกรวงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะขายได้ราคาเท่าไหร่ อาชีพอื่นโชคดีกว่ามาก เป็นลูกจ้างตามโรงงาน เป็นมนุษย์เงินเดือน รู้ล่วงหน้าว่าสิ้นเดือนจะได้เงินเท่าไหร่ “ คำพูดของท่านอาจารย์ใหญ่บุญชู โรจนเสถียร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ที่มาของหลักคิดโครงการประกันรายได้ เพื่อสร้างหลักประกันให้กับเกษตรกรครับ

คำว่า ‘ ประกันรายได้ ‘ ไม่ต่างไปจากการ ‘ ประกันชีวิต ‘ ‘ประกันสุขภาพ ‘ หรือ ‘ ประกันอุบัติเหตุ ‘ เกษตรกรที่ซื้อประกันไว้ ถ้าผลผลิตราคาตกต่ำ รายได้จากการขายต่ำไปจากตัวเลขที่ได้ทำประกันไว้ ผู้รับประกันก็จะจ่ายเงินส่วนต่างให้ ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน

รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์เริ่มโครงการโดยมอบหมายให้ธกส.เป็นผู้ขายประกัน ช่วงแรกของการทดลอง ธกส.ไม่คิดเบี้ยประกันจากเกษตรกรครับ ส่วนค่าสินไหม รัฐบาลจัดงบประมาณเป็นรายปี ส่งธกส.ให้นำไปจ่ายผ่านบัญชีของเกษตรกรผู้ทำประกัน

นโยบายประกันรายได้ของรัฐบาลนายกอภิสิทธิ์เริ่มทดลองใช้กับเกษตรกร 3 กลุ่ม ชาวนา ชาวไร่มันสำปะหลัง และชาวไร่ข้าวโพด

เบื้องต้นกำหนดให้เกษตรกรทั้งสามกลุ่มสามารถซื้อ ‘ ประกันรายได้ ‘ ที่ธกส. ตามราคาประกันที่กำหนดไว้ในแต่ละฤดูการผลิต

ธกส.กำหนดตัวเลข ‘ รายได้ ‘ ที่จะทำสัญญาประกันเช่น สำหรับชาวนาให้ประกันรายได้ที่ 12,000 บาทต่อตัน ( คิดจากต้นทุนบวกกำไรให้ 40% )

ธกส.กำหนดจำนวนผลผลิตที่จะนำมาประกันต่อครัวเรือน ธกส.ไม่รับจำนำข้าวเปลือกทุกเม็ด เพราะต้องใช้เงินภาษีเพื่อช่วยเกษตรกร จึงช่วยเฉพาะเกษตรกรที่ยากจนเป็นหลัก เกษตรกรที่มีผลผลิตมาก (มีที่นาเป็นร้อยไร่ ) ได้รับผลประโยชน์เท่ากับเกษตรกรทั่วไป ( มีที่นา 10-20 ไร่ ) จะไม่ได้มากกว่า

เงินส่วนต่างที่ผมพูดถึงคือราคาขายกับราคาประกัน ราคาประกันธกส. ( รัฐบาล )เป็นผู้กำหนด ราคาขายกระทรวงพานิชย์เป็นผู้ประกาศ ถือเป็นราคาตลาด เงินส่วนต่างคือราคาประกัน – ราคาขาย สมมุติซื้อประกันรายได้ไว้ที่ 12,000 บาทต่อตัน ถ้าผลผลิตออกมาระหว่างที่กระทรวงพานิชย์ประกาศราคาตลาดที่ 8,000 บาทต่อตัน เกษตรกรจะได้รับเงินส่วนต่างที่ 12,000 – 8,000 = 4,000 บาทต่อตัน ประกันไว้ 20 ตัน ธกส.ก็จะนำเงิน 4,000 x 20 = 80,000 บาทใส่บัญชีให้ภายใน 3 วันทำการ

ปีที่เริ่มโครงการ จำนวนชาวไร่ข้าวโพด มีไม่มากแต่ได้รับประโยชน์กันทั่วหน้ากว่า 5 แสนครัวเรือน ราคาขายข้าวโพดช่วงนั้นต่ำกว่าราคาที่ได้ประกันไว้ รัฐบาลใช้เงินภาษีจ่ายเป็นเงินส่วนต่างไปประมาณ 5 พันล้านบาท

สำหรับชาวไร่มันสำปะหลังที่มีเกือบ 2 ล้านครัวเรือนและทำประกันรายได้ไว้กับ ธกส. ไม่ได้รับเงินจากรัฐบาลซักบาทเดียว เพราะราคาขายมันสำปะหลังช่วงนั้นสูงกว่าราคาประกัน ชาวไร่ไม่บ่น ทุกคนสบายใจ บอกดีแล้วที่ไม่ต้องรบกวนเงินภาษีของประชาชน

ส่วนชาวนาที่ได้มาทำประกันรายได้ไว้กับธกส. ถึงเวลาขายข้าวเปลือกปรากฎว่าราคาขายต่ำกว่าราคาประกัน รัฐบาลใช้เงินไป 6 หมื่นล้านบาท จ่ายส่วนต่างให้กับชาวนา ผ่านบัญชีของชาวนาที่เปิดไว้กับธกส. ไม่มีตกหล่น ได้กันครบเกือบ 5 ล้านครัวเรือน

ปัญหา อุปสรรค มีมากเหมือนกัน โครงการรูปแบบใหม่ ผู้ปฎิบัติไม่คุ้นเคย ต้องใช้เวลานานกว่าจะเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ข้อดีคือค่าบริหารต่ำมาก พันกว่าล้านบาทเท่านั้น ไม่มีค่าสีข้าว ไม่มีค่าโกดัง

ทะเบียนเกษตรกร เป็นหัวใจสำคัญ แต่ข้อมูลที่ทางราชการมีเป็นข้อมูลเก่า ไม่ทันสมัย ไม่สะท้อนความเป็นจริง ต้องรื้อใหม่หมด

ข้อมูลที่ได้รับจากชาวนาต้องทำประชาคมเพื่อช่วยกันตรวจสอบหลักฐาน ตรงนี้แหละครับที่มีรั่วไหล ชาวนาบางกลุ่มมีการแจ้งข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ที่ดินร้างไม่ได้ทำนาก็บอกว่าทำนา มี 100 ไร่ ก็ไปแบ่ง ไปซอยเป็นแปลงเล็กๆ ใช้ชื่อญาติพี่น้องเป็นนอมินี เพื่อจะได้สามารถประกันผลผลิตของตนได้ครบ หลีกเลี่ยงข้อกำหนดของธกส.ที่จำกัดจำนวนผลผลิตในการประกันของแต่ละครัวเรือน

การทุจริตที่กล่าวถึงมีเป็นส่วนน้อย ชาวนาส่วนใหญ่ซื่อสัตย์ สุจริต ผมได้สัมผัสด้วยตนเองตอนลงพื้นที่ คุณยายคนนึงถือโฉนด 10 ไร่มาประกันกับธกส. แต่ประกันผลผลิตเพียง 5 ไร่ บอกว่าทำเพียงแค่นี้ มีให้เห็นอย่างนี้หลายรายครับ

ถ้าต้องการช่วยเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ให้มีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงครอบครัวได้จริง โครงการประกันรายได้ต้องมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น ผมเสนอแนวทางอย่างนี้ครับ

รัฐบาลสร้างกลไกให้สามารถรับซื้อข้าวทุกเม็ดจากชาวนา ซื้อในราคาตลาด ซื้อในราคาที่รัฐบาลสามารถส่งออกได้ทันทีโดยไม่ต้องเก็บข้าวไว้ในโกดังเกินกว่าสามเดือน รัฐบาลทำตัวเป็นเสือตัวที่ 6 (วงการค้าข้่าวรู้กันว่ามี 5 บริษัทส่งออกข้าวที่เป็นยักษ์ใหญ่ เรียก 5 เสือ ) แข่งกับเสือทั้ง 5 ตัว ซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา วิธีนี้ป้องกันไม่ให้พ่อค้ากดราคาและยังช่วยดึงข้าวบางส่วนออกจากระบบในช่วงต้นฤดูที่ข้าวมีมากและราคาตก

ต้องจัดงบประมาณให้เพียงพอเพื่อใช้ในการบริหารการจัดทำทะเบียนเกษตรกรให้ครบบริบูรณ์ มีการซุ่มตัวอย่างตรวจสอบความถูกต้อง การมีทะเบียนเกษตรกรที่ทันสมัย แม่นยำจะช่วยรัฐบาลให้มีข้อมูลพร้อมเพื่อช่วยเหลิอเกษตรกรได้อย่างเป็นระบบ ไม่ใช่แค่ใช้ในโครงการประกันรายได้ แต่สามารถใช้ช้อมูลในการช่วยเหลือเกษตรกร กรณีภัยพิบัติ น้ำท่วมไร่นา ฝนแล้ง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รัฐบาลถามตัวเองว่าพร้อมช่วยเกษตรกรด้วยเงินภาษีปีละเท่าไหร่ สมมุติว่า 1 แสนล้านบาท ก็จัดงบประมาณเงินจำนวนนี้ให้ธกส.ในแต่ละปี ไม่ควรก่อหนี้นอกระบบ มีเงินเท่าไหร่ก็ช่วยเท่านั้น จะได้ไม่เป็นภาระผูกพันไปถึงลูกถึงหลาน

คิดในใจว่าเลือกตั้งครั้งหน้า ( สงสัยอีกไม่นาน ) จะได้นำข้อเสนอนี้ให้กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ได้พิจารณา นำเป็นแนวนโยบายพรรคในการช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป

แบ่งปันเรื่องราว:
  • Print
  • del.icio.us
  • Facebook
  • email
  • PDF
  • Twitter

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

Twitter

TwitPic

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
Korbsak.com
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ค้นหา