กุหลาบแก้ว ตอนที่ 1

กุหลาบแก้ว ตอนที่ 1

19 กันยายน 2549

กำลังเป็นที่สนใจกันอย่างมากครับ เกี่ยวกับเรื่องของกุหลาบแก้ว ชื่อนี้ได้ยินกัน ครั้งแรกในวันที่คนตระกูลชินวัตร – ดามาพงศ์ ประกาศการขายหุ้นบริษัทชิน เมื่อวันที่ 23 มกราคม ต้นปีนี้แหละครับ

เป็นการเทกระจาดขายหุ้นทั้งหมดให้บริษัทเทมาเส็ก ของรัฐบาลสิงคโปร์ อุปสรรคกลายเป็นเพราะกฎหมายไทยมีข้อห้ามว่า บริษัท ชินต้องเป็นบริษัทไทยเท่านั้นเพราะธุรกิจของชินเกี่ยวข้องกับสัมปทานของรัฐ เกือบทั้งหมด ทุกสายตามุ่งไปที่ผู้ซื้อ คือ บริษัทซีดาร์โฮลดิ้ง ว่าเป็นไทยแท้จริงหรือไม่ ฝ่ายต่างด้าวชัดเจนว่าเป็นกลุ่มเทมาเส็ก แล้วฝ่ายไทยละเป็นใคร เศรษฐีจากที่ไหน

พบว่าเป็นบริษัทที่ใช้ชื่อว่ากุหลาบแก้ว เป็นบริษัทของคนไทยแต่ไม่ใช่ไทยแท้ มีต่างด้าวถือหุ้นร่วมอยู่ด้วย เพราะความสลับซับซ้อน ไม่ตรงไปตรงมา ของวิธีการที่เป็นที่มาของโครงสร้างผู้ถือหุ้น ทำให้มีคนสงสัยกันมาก พวกเราที่พรรคประชาธิปัตย์ จึงมีหนังสือไปยังกระทรวงพาณิชย์ ขอให้ทำการสอบหาข้อเท็จจริง

สัปดาห์ที่แล้ว ผลสอบตามข้อสงสัยของสาธารณะชน ปรากฎบนหน้าหนังสือพิมพ์ เท่าที่ผมเห็นก็มีอย่างน้อย 2 ฉบับ คือ ประชาชาติธุรกิจ และมติชน ผมเคยพูดไว้หลายครั้ง ว่าสื่อของเราเดี๋ยวนี้เก่ง พัฒนาไปมาก เป็นปากเป็นเสียง ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศอย่างดีเยี่ยม

จากข้อมูลดังกล่าว ผมลองทำแผนภูมิมาให้ดูกันเล่นๆเพื่อจะได้เข้าใจในความสลับซับซ้อนของวิธีการ จัดทำโครงสร้างของการถือหุ้น เพื่อให้คงไว้ซึ่งความเป็นบริษัทไทยตามกฎหมายกำหนด แต่ยังรักษาความเบ็ดเสร็จของการบริหารให้อยู่ในมือของคนต่างด้าว

ก่อนเริ่ม ท่านผู้อ่านจะต้องเข้าใจก่อนว่า คำว่า “บริษัทคนไทย” ตามกฎหมาย ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทย ทั้งหมดนะครับ เพียงแต่มีผู้ถือหุ้นข้างมาก คือ เกินครึ่ง ในที่นี้หมายถึง ร้อยละ 51 ขึ้นไป ต้องเป็นคนไทย เท่านี้ ก็เรียกได้ว่าเป็นบริษัทไทยแล้ว เมื่อเข้าใจอย่างนี้ ท่านผู้อ่านจะเข้าใจโครงสร้างทั้งหมดได้ดีขึ้น

เริ่มต้นอย่างนี้ครับ

บริษัทซีดาร์โฮลดิ้ง ซื้อหุ้นทั้งหมดจากตระกูลชินวัตร- ดามาพงศ์ มูลค่ากว่า 73,000 ล้านบาท เพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ซื้อต้องเป็นบริษัทไทย ถามกันว่า ซีดาร์ โฮลดิ้ง เป็นบริษัทคนไทยหรือเปล่า?

ดูจากเอกสารก็คงไม่ผิด เพราะมีธนาคารไทยพาณิชย์ถือหุ้นร้อยละ 10 บริษัทกุหลาบแก้วถือหุ้นอีกร้อยละ 41 รวมกันได้ร้อยละ 51 ส่วนที่เหลือไม่ใช่ใครอื่น เป็นบริษัท ไซเพรสโฮลดิ้ง จากสิงคโปร์นั้นเอง

แล้วปัญหาอยู่ที่ไหน? ที่กุหลาบแก้วครับ เพราะตอนกุหลาบแก้วจัดตั้งขึ้นครั้งแรกนั้น มีทุนจดทะเบียนเพียง 1 แสนบาท จึงเกิดเป็นข้อสงสัยกันขึ้นว่า บริษัทอะไรกัน มีเงินทุนนิดเดียว มีปัญญาร่วมทุนกับต่างด้าว ซื้อหุ้นมูลค่าเกือบแสนล้านบาทได้อย่างไร

แถมมีคนไทยเป็นผู้ถือหุ้นเพียงปริมปริม คือร้อยละ 51 และมีต่างด้าวร้อยละ 49 ไม่ใช่ใครอื่น บริษัทไซเพรสโฮลดิ้ง เจ้าเก่า โผล่มาถือหุ้นตรงนี้อีก

ปรากฏต่อมาครับ ว่ามีการเพิ่มทุนครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ โดย ปรากฏตัวตนผู้ถือหุ้นฝ่ายไทย น่าเชื่อถือมากขึ้น คือ คุณพงส์ สารสิน และ คุณศุภเดช พูนพิพัฒน์ สองท่านถือหุ้นรวมกันแล้วเท่ากับร้อยละ 51
ฟังดูแล้วทุกอย่างก็น่าจะราบรื่น เพราะการเพิ่มทุนในครั้งนี้ทุนจดทะเบียนเพิ่มจาก 100,000 บาท เป็น 3,835,600,000 บาท ตัวเลขเพิ่มทุน ใช้ได้

ความมาแตก ตอนผลสอบของกระทรวงพาณิชย์ ที่รัฐบาลคุณทักษิณ ไม่ยอมเปิดเผย และพยายามปกปิด ถ่วงเวลา แต่ถูกสื่อคนเก่งของเรา นำมาเผยแพร่ให้เจ้าของประเทศ ผู้เสียภาษีทั้งหลายอย่างเรา ๆ ได้รู้ข้อเท็จจริง ต้องชมเชย ท่านอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คุณอรจิต สิงคาลวณิช ประธานการตรวจสอบ ก่อนเกษียณฝากผลงานไว้ได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะการตรวจสอบเส้นทางเดินของเงิน ทำให้ผมนึกถึงผลงานของ กลต. ในการสอบสวนการซื้อ ขาย หุ้นชิน มือคนละชั้น เทียบกันไม่ได้ กลต.ไม่เคยคิดจะสอบเส้นทางการเดินของเงิน ผู้บริหาร กลต. ควรจะทบทวนบทบาทของตัวเองได้แล้ว ทำงานให้คุ้มค่าเงินภาษีของพวกเราหน่อยซิ จริงไหมครับ ท่านผู้อ่าน

ไปดูกันที่เส้นทาง ที่ไปที่มาของเงินลงทุนกันครับ (แผนภูมิที่สอง)

เมื่อมีการเพิ่มทุน ทั้งคุณพงส์ และ คุณศุภเดช ต้องนำเงินมาชำระค่าหุ้นที่ซื้อเพิ่ม ถูกไหมครับ

แผนภูมิที่1 เป็นโครงสร้างของผู้ซื้อหุ้นในแต่ละลำดับขั้น

แผนภูมิที่1 เป็นโครงสร้างของผู้ซื้อหุ้นในแต่ละลำดับขั้น

แผนภูมิที่2   เส้นทางเดินของเงินลงทุน

แผนภูมิที่2 เส้นทางเดินของเงินลงทุน

ปรากฏข้อมูลอย่างนี้ครับ คุณพงส์ ท่านจ่ายค่าหุ้นเป็นเงินสด 30,000 บาท ส่วนที่เหลือท่านจ่ายเป็นเช็ค ลงวันที่ 20 มกราคม 2549 จำนวนเงิน 50,933,000 บาท เช็คนี้จ่ายให้บริษัทไซเพรส โฮลดิ้ง เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ความจริงต้องจ่ายให้ กุหลาบแก้ว แต่เพราะไซเปรสออกเงินค่าหุ้นล่วงหน้าไปก่อน คุณพงส์ท่านจึงเขียนเช็คจ่ายคืน เช็คดังกล่าวมีการตัดบัญชีเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 5 เดือนให้หลัง ไม่น่าเชื่อใช่ไหมครับ

ส่วนของ คุณศุภเดชนั้น คุณศุภเดชจ่ายเช็คส่วนตัวชำระค่าหุ้น 20,000 บาท ส่วนที่เหลือ อีก 32,860,000 บาท นั้นจ่ายโดยเงินกู้จากธนาคารไทยพาณิชย์ คุณศุภเดชกู้เงินได้เพราะมีคนใจดี นำบัญชีเงินฝากออมทรัพย์มาเป็นหลักประกัน รวมทั้งค้ำประกันเงินกู้ให้ทั้งจำนวน ไม่ใช่ใครอื่น บริษัทไซเปรส โฮลดิ้ง นั่นเอง คุณศุภเดช ใช้หนี้ธนาคารเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2549 6 เดือนให้หลัง

สรุปได้ว่า ทั้งสองท่านที่เป็นนักลงทุนฝ่ายไทย ควักกระเป๋าเงินลงทุนเป็นเงินสดและเช็ครวมแล้วเพียง 50,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 80 กว่าล้านบาท หุ้นส่วนที่เป็นต่างด้าวออกเงินให้ก่อนทั้งหมด ทั้งสองท่านนำเงินมาใช้คืนบริษัท ไซเพรสโฮลดิ้ง ภายในระยะเวลาประมาณ 5-6 เดือน

นอกเหนือไปจากที่กล่าวมาแล้ว ข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ยังระบุด้วยว่า เงินลงทุนทั้งหมดของ บริษัทไซเพรส โฮลดิ้ง ในส่วนของที่ลงทุนเอง คือ ส่วน 49% และส่วนที่ออกเงินแทนนักลงทุนฝ่ายไทยอีก 51% นั้น เป็นเงินที่ส่งมาจากบัญชี Fullerton Private Limited ซึ่งเป็นกองทุนพิเศษของบริษัทเทมาเสก

แปลว่า กุหลาบแก้ว มีคนไทยถือหุ้นแต่ เทมาเส็ก ออกเงินให้ ใช่หรือไม่ ถูกต้องครับ อย่างน้อยก็ในช่วง 5 -6 เดือน ก่อนที่ คุณพงส์ จะจ่ายเงินคืนให้ บริษัทไซเพรส โฮลดิ้ง และ คุณศุภเดชใช้หนี้เงินกู้ธนาคารไทยพาณิชย์ ในภายหลัง

นอกจากจะดูเรื่องเส้นทางเดินของเงินแล้ว ดูจากประเภทของหุ้นก็เห็นชัดว่า ไม่น่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะหุ้นทั้งหมดที่ฝ่ายไทยซื้อ เป็นหุ้นประเภทที่เรียกกันว่าหุ้นบุริมสิทธิ ไม่ใช่หุ้นสามัญ เป็นหุ้นที่มีข้อจำกัดหลายอย่างเช่น ได้ผลตอบแทนเพียงร้อยละ 3 ต่อปี เจ้าของหุ้นต้องการจะขายหุ้นเพราะหุ้นปรับตัวสูงขึ้น ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะขาย ต้องขออนุมัติกรรมการก่อน ถ้าบริษัทเลิกกิจการจะได้เงินคืนเฉพาะเท่าที่ลงทุนเท่านั้น สิทธิในการออกเสียงแทนที่จะเป็น 1 หุ้น 1 เสียง กลับมีสิทธิเพียง 1 เสียง ต่อ 10 หุ้น เป็นการลงทุนที่เหมือนกับฝากเงินในธนาคารพาณิชย์ทั่วไปครับ ได้ดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 3 แต่ตลอดชีวิตเลยนะครับ ท่านผู้อ่านสนใจจะลงทุนแบบนี้ไหมครับ

นี่ไม่ต้องพูดถึงสิทธิ์ในการมีอำนาจสั่งจ่ายเงินจากบัญชีบริษัท ผู้มีสิทธิ์ 3 ท่านเป็นชาวสิงคโปร์ทั้งหมด และทั้ง 3 ท่าน ลงนามสั่งจ่ายเงินได้ไม่ใช่เฉพาะบัญชีของบริษัทกุหลาบแก้วเท่านั้น ยังรวมไปถึง บัญชีของบริษัทไซเพรส โฮลดิ้ง และบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งด้วย ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อกันละครับ ส่วนของคุณ พงส์ มีสิทธิ์ลงนามในนามกุหลาบแก้วอยู่บ้าง แต่ต้องลงนามร่วมกับ คนสิงคโปร์ คนหนึ่งคนใดเท่านั้น

การตรวจสอบของกระทรวงพาณิชย์ เริ่มปลายเดือน กุมภาพันธ์ เมื่อผู้ถูกตรวจสอบคือ กุหลาบแก้วรู้ตัวว่ามีปัญหา ความลับแตก จึงมีการหาทางออก อีก 2-3 วัน ผมจะเล่าให้ฟังต่อว่า บริษัทกุหลาบแก้ว เขาแก้ปัญหา อย่างไร และจะมีปมสำคัญที่จะทำให้ท่านผู้อ่านเดาได้ว่า “ใครคือ นอมินีตัวจริง”

คลิ๊กเพื่ออ่านบทความ”กุหลาบแก้ว ตอนที่ 2″

แบ่งปันเรื่องราว:
  • Print
  • del.icio.us
  • Facebook
  • email
  • PDF
  • Twitter

Tags: ,

Comments are closed.

Twitter

TwitPic

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
Korbsak.com
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ค้นหา