ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้น… รวยกันทุกคน

Tue, Jun 19, 2007

English | ทักษิณ

ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้น… รวยกันทุกคน

จริงไหมครับ ที่ว่ารวยเพิ่มกันทุกคน ไม่ใช่ครอบครัวของคุณทักษิณเท่านั้น ผมไม่ขอออกความเห็น ท่านก็อย่าเพิ่งด่วนสรุป อ่านให้จบก่อนแล้วค่อยตัดสินใจดีกว่า

ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินคำว่า “ ทุจริตเชิงนโยบาย” บ่อยครั้งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เป็นคำใหม่ ก่อนนั้นไม่มีใครรู้จัก ถ้าจะว่ากันตามความเป็นจริงหลาย ๆ ท่านก็ยังไม่ค่อยจะเข้าใจได้อย่างถ่องแท้เท่าไหร่นัก รู้ว่า “ ทุจริตเชิงนโยบาย” แปลว่าโกง แต่นึกไม่ออก ไม่เข้าใจ ว่าโกงแบบไหน ถ้าจะให้เข้าใจได้แบบไม่ยากเกินไปนัก อาจมองจากมุมนี้ก็ได้ครับ

คนเรานั้นมีทรัพย์สินในรูปแบบที่แตกต่างกัน ในอดีตเราเคยได้ยินคำว่า เศรษฐีที่ดิน (พวกนี้มีโฉนดเป็นปึก กองไว้ในตู้เซฟ) หรือไม่ก็เศรษฐีเงินหมุน แบบนี้มีให้เห็นเกลื่อนเต็มไปหมด โดยเฉพาะนักธุรกิจที่หมุนเงินเป็นไฟ หยุดธุรกิจเมื่อไหร่ ก็เจ็งทันที (ผู้รับเหมาก่อสร้างมักจะอยู่ประเภทนี้ครับ บางคนเท่านั้น ผมไม่ได้เหมาไปทั้งหมด) เดี๋ยวนี้มีเพิ่มอีกหนึ่งประเภท เรียกกันว่าเศรษฐีหุ้น คุณทักษิณและครอบครัวจัดว่าอยู่ในประเภทนี้แหละครับ

เศรษฐีประเภทนี้มีเงินสดถือในมือไม่มาก แต่บริษัทที่ตนเองก่อตั้งหรือเป็นเจ้าของจะมีทรัพย์สินครอบครองไว้หลายประเภท โดยเฉพาะที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ตนเองเป็นเจ้าของบริษัทโดยการถือหุ้นจำนวนทั้งหมด หรือไม่ก็ถือจำนวนเพียงพอที่จะมีอำนาจในการบริหารบริษัทได้อย่างเบ็ดเสร็จ เมื่อหุ้นเป็นเพียงแผ่นกระดาษสำหรับไว้แสดงความเป็นเจ้าของกิจการ ถ้าจะทำให้หุ้นเหล่านั้นมีมูลค่าจริง ต้องนำหุ้นของกิจการไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เพราะจะสามารถซื้อขายได้ง่าย คล่องตัว และประเด็นสำคัญ เมื่อแปลงหุ้นเป็นเงินเมื่อไหร่ ต้องการขายเมื่อใด “ไม่ต้องเสียภาษีแม้แต่บาทเดียว” อีกต่างหาก

สิ่งที่ต้องระวังคงจะมีอยู่นิดเดียวเองครับ อย่าปล่อยให้หุ้นของเราราคาร่วงก็แล้วกันจึงมีคำถามว่า ทำอย่างไรหุ้นจึงจะราคาดี ไม่มีวันตก สำหรับนักธุรกิจที่มีจรรยาบรรณที่ดี มีคุณธรรม ไม่โกง คำตอบฟังแล้วจะชื่นใจ เช่น บริหารแบบโปร่งใส ไม่ตกแต่งบัญชีกำไรหรือขาดทุนของแท้ทั้งสิ้น กรรมการอิสระมีอิสระในการทำหน้าที่ และเป็นตัวแทนของนักลงทุนรายย่อยอย่างแท้จริง จะมีซักกี่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของเราที่บริหารธุรกิจแบบนี้

ประเภทธุรกิจก็มีส่วนสำคัญมาก ต้องเป็นกิจการที่มีอนาคตสดใส เป็นกิจการที่มีกำไรสม่ำเสมอและมั่นคง ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของกิจการ ส่วนมากมักจะเป็นผู้ที่ก่อตั้งกิจการนั้น ๆ ตั้งแต่เริ่มต้น ท่านเหล่านี้คือ เศรษฐีหุ้น ประเภทที่ผมกล่าวไว้ตั้งแต่เริ่มนะครับ รวยมาก รวยน้อย รวยขึ้นหรือจนลง ชีวิตนี้ขึ้นอยู่กับราคาหุ้นครับ

ผมไม่ได้หมายรวมถึงบรรดาแมงเม่าทั้งหมายนะครับ นักลงทุนรายย่อย ซื้อมาขายไปไม่มีทางที่จะเป็นเศรษฐีตามพจนานุกรมของผมหรอกครับ

เมื่อท่านผู้อ่านเข้าใจอย่างนี้แล้ว จะสามารถมองทะลุได้ว่า ทำไมคุณทักษิณและครอบครัว ที่แต่ก่อนเคยร่ำรวย มีทรัพย์สินมูลค่า 20,000 ล้านบาท แต่พอเป็นผู้นำประเทศเพียง 5 ปีกว่า กลับขายหุ้นได้เงินสูงกว่า 70,000 ล้านบาท ก็เพราะราคาหุ้นของกิจการที่ครอบครัวถือครองอยู่ไงครับ เป็นนายกรัฐมนตรีปีแรก ราคาหุ้นของบริษัทชินต่ำสุดเหลือเพียงหุ้นละ 9.50 บาท ถ้าจำไม่ผิด ปลายเดือนมกราคมปี 2549 ราคาปรับสูงขึ้นเป็น 47.50 บาท ช่วงเวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น รวยเพิ่ม 5 เท่า

ไม่ต้องถามก็พอจะตอบไดว่า เก่งสุดยอด ทำได้อย่างไร บอกเคล็ดลับกันบ้าง!

ถ้าสอบถามไปยังผู้รู้ จะถูกถามกลับว่า เข้าใจในนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของคุณทักษิณหรือเปล่า รู้ไหมว่านโยบายหลายอย่างเป็นการทำเพื่อเอื้อประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับตนเอง และพวกพ้องเกือบทั้งสิ้น ผมรวบรวมไว้หลายประเด็นครับจากงานค้นคว้าบ้าง ข้อมูลจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีสมัยทำงานในสภาก็มี

เริ่มประเด็นที่สามารถเข้าใจได้ง่าย ๆ กันก่อนก็ได้ครับ

คุณทักษิณเป็นรัฐบาลเพียง 5 เดือน ก็เปิดฉากเพิ่มกำไรให้บริษัทของครอบครัวโดยการแก้ไขสัญญาสัมปทานมือถือของบริษัท เอไอเอส ท่านผู้อ่านทราบอยู่แล้วว่า บริษัทที่ทำรายได้หลักให้กับ บริษัท SHIN ของคุณทักษิณ คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส บริษัท เอไอเอส ได้สัญญาสัมปทานกับรัฐบาลเป็นระยะเวลา 25 ปี มีการแก้ไขสัญญาสัมปทานต่อเป็น 30 ปีด้วยในภายหลัง

สัญญาสัมปทานที่เอกชนทำร่วมกับรัฐมีหลายรูปแบบ เป็นเรื่องเข้าใจยากเพราะมีรายละเอียดมาก ผมอยากจะให้ดูกันเฉพาะส่วนการแบ่งรายได้ที่ฝ่ายเอกชนผู้ได้สัญญาสัมปทานต้องจ่ายให้กับรัฐกันดีกว่าครับ เพราะเป็นหัวใจสำคัญ

ตามสัญญาสัมปทาน บริษัทเอไอเอสในฐานะคู่สัญญา เมื่อรายได้จากการทำธุรกิจต้องแบ่งรายได้ให้รัฐในอัตราร้อยละ 25 ของรายได้ทั้งหมด ส่วนนี่แหละครับที่มีการแก้ไขไม่ใช่แก้แล้วรัฐบาลของเราได้ส่วนแบ่งมากขึ้นนะครับ อย่าได้เข้าใจผิดเป็นอันขาด เป็นการแก้สัญญาที่ทำให้รัฐได้รับส่วนแบ่งน้อยลง ไม่น่าเชื่อใช่ไหมครับ

การแก้ไขสัญญาครั้งนั้นกระทบต่อรายได้ของรัฐ เป็นการแก้ไขที่ทำให้รายได้รัฐน้อยลงที่แปลกก็คือ การแก้สัญญาครั้งนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์เท่านั้น ไม่ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี

เขาแก้ไขสัญญาเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่กำกับดูแลองค์การโทรศัพท์ชื่อ วันมูหะมัดนอร์ มะทา

ที่มาที่ไปเป็นอย่างนี้ครับ คนไทยหันมานิยมใช้โทรศัพท์ระบบพรีเพด คือ ระบบที่มีการจ่ายก่อน โทรทีหลัง หรือว วัน ทู คอล มากขึ้น จำนวนลูกค้าที่ใช้ระบบนี้มีมากถึง 8,000,000 กว่ารายตอนที่มีการแก้ไขสัญญา ปัจจุบันน่าจะมีลูกค้ามากกว่า 20,000,000 รายแล้ว ลูกค้าส่วนมากจะเป็นผู้มีรายได้น้อย คนในระดับรากหญ้าของเราละครับ ไม่มีเครดิตที่จะโทรก่อนจ่ายทีหลังตามระบบรายเดือนตามปกติ ซึ่งบริษัทไม่ค่อยจะอนุมัติกลัวเบี้ยว โทรแล้วไม่จ่ายเงิน ในระบบ วัน ทู คอล ผู้บริโภคต้องยอมเสียเปรียบ จ่ายเงินค่าโทรไปก่อน ส่วนที่ว่าจ่ายเงินแล้วจะใช้โทรศัพท์หรือไม่ใช้ในภายหลัง ไม่ว่ากัน บริษัทรับเงินล่วงหน้าไปแล้ว

ตรวจสอบสัญญาสัมปทานฉบับเดิมก่อนการแก้ไข พบว่า บริษัท เอไอเอส ต้องนำรายได้ส่วนที่เรียกว่า วัน ทู คอล มาแบ่งจ่ายให้รัฐร้อยละ 25 ประมาณว่าต้องแบ่งให้รัฐกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี

เมื่อ พ.ต.ท. ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี วันดีคืนดี บริษัท เอไอเอสก็ขอแก้ไขลดค่าสัมปทานจากร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 20 คณะกรรมการองค์การโทรศัพท์ก็ใจดีครับ อนุมัติให้แบบเงียบๆ ไม่มีใครทราบ จนกระทั่งผมนำเรื่องนี้เปิดเผยในสภาระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีกระทรวงไอซีที

ผมลองคำนวณดูรายได้ที่รัฐต้องสูญเสียไป โดยตั้งสมมติฐานว่า บริษัทเอไอเอสมีรายได้เฉพาะในส่วนนี้ประมาณปีละ 50,000 บาท แก้สัญญาจากที่แบ่งให้รัฐ ร้อยละ 25 ลดลงเหลือ ร้อยละ 20 ปี หนึ่งรัฐมีรายได้ลดลงจากเดิมร้อยละ 5 คำนวณได้เป็นเงินกว่า 2,500 ล้านบาทต่อปี สัมปทานจะสิ้นสุดในปี 2558 รวมเวลา 13 ปี เท่ากับว่ารัฐต้องสูญเสียรายได้อย่างน้อยประมาณ 30,000 ล้านบาท

ความจริงการแก้ไขสัญญานี้ ผมไม่เรียกว่า “ทุจริตเชิงนโยบาย” ผมว่าเป็นการโกงกันซึ่งหน้าเลยครับ การแก้ไขในครั้งนี้ทำให้ผลประกอบการของบริษัทเอไอเอสดีขึ้น มีกำไรมากขึ้น หุ้นก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ยังจำได้เลยครับว่า หลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจผ่านพ้นไปเพียงไม่กี่วัน หุ้นบริษัท SHIN ก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง น่ากลุ้มใจกับระบอบทักษิณจริงครับ!!!

เรื่องของเอไอเอสยังไม่จบครับ ท่านผู้อ่านยังจำนโยบายกองทุนหมู่บ้านได้ไหมครับก่อนที่จะมีการแก้ไขสัญญาเพื่อลดรายจ่ายให้กับเอไอเอส รัฐบาลคุณทักษิณได้ใช้นโยบายนี้มาช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเอไอเอสล่วงหน้าไปแล้วครับ

นโยบายนี้ รัฐบาลได้จัดสรรเงินให้กองทุนหมู่บ้านหมู่บ้านละ 1 ล้าน รวม 7 หมื่นกว่าล้านบาท ปีที่เงินเหล่านี้ลงไปถึงหมู่บ้าน ปรากฎว่าพี่น้องประชาชนชาวชนบทบางส่วน (ต้องขอย้ำนะครับว่าบางส่วน) ได้นำเงินที่สามารถกู้ได้โดยง่ายจากกองทุนหมู่บ้านนี้ไปใช้ในการซื้อหรือการเป็นสมาชิก หรือการใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ทำให้จำนวนสมาชิกของบริษัทเอไอเอส เพิ่มขึ้นในปีที่มีการปล่อยเงินกู้จำนวนนี้ออกไปถึง 1 ล้านเลขหมาย ไม่ได้เป็นข้อกล่าวหานะครับ แต่มีตัวเลชัดเจนและสามารถตรวจสอบได้ ทำไมเหตุการณ์ช่างประจวบเหมาะกันเหลือเกิน แบบนี้เรียกผลประโยชน์ทับซ้อน หรือเรียกว่าทุจริตเชิงนโยบายครับ

นั่นเป็นตัวอย่างของเอไอเอส ครับ

ลองมาดูของบริษัท Shin Sattellite กันบ้าง

เรื่องของ Shin Sattellite กล่าวหากันได้เลยว่าเป็น “ทุจริตเชิงนโยบาย” อย่างแน่นอน

มีถึงสองนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับโครงการดาวเทียมที่พวกเรารู้จักกันดีในชื่อ IP STAR ครับ นโยบายแรก เป็นเรื่องของการยกเว้นภาษีโดย BOI นโยบายที่สอง เป็นเรื่องของการให้รัฐบาลพม่ากู้เงินจากรัฐบาลไทยเป็นกรณีพิเศษ ลองอ่านดูครับ

เดาได้ถูกแล้วครับ เรื่องของ BOI ไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อน ประหยัดภาษีไงครับ

ปลายปี 2546 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่เราได้ยินกันในชื่อว่า บีโอไอ ได้ให้ความเห็นชอบกับการขอบัตรส่งเสริมของบริษัท Shin Sattellite สำหรับโครงการ IP STAR

ทายกันซิครับว่าเขาส่งเสริมกันขนาดไหน บีโอไออนุมัติยกเว้นไม่เก็บภาษีเงินได้ สำหรับโครงการนี้เป็นเวลาถึง 8 ปี เป็นเงินรายได้ทางภาษีร่วม 16,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าจะถามว่าโครงการนี้จะเกิดได้หรือไม่ ถ้าไม่ยกเว้นภาษีให้ คำตอบคือ ได้ครับ แต่บีโออก็ใจดี ไม่ให้รัฐเก็บภาษี แล้วคนไทยตาดำๆ ได้อะไรจากโครงการนี้ในช่วงแปดปีแรกศูนย์ครับ อย่าลืมว่าโครงการนี้ใช้วงจรดาวเทียมซึ่งเป็นสมบัติของชาติแน่นอนที่สุด เมื่อไม่ต้องเสียภาษีเท่ากับบริษัทได้ประหยัดรายจ่ายได้ส่วนหนึ่ง ได้กำไรเพิ่มและราคาหุ้นก็เพิ่มขึ้น

ยังมีอีกครับ รับฐาลไม่ใช่แค่ยกเว้นไม่เก็บภาษีเงินได้เท่านั้น แต่ยังช่วยหาลูกค้าให้ Shin Sattellite อีกต่างหาก ลูกค้าที่พูดถึงไม่ใช่ใครอื่นไกล ประเทศพม่า เพื่อนบ้านเรานั่นเอง

เรื่องนี้เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลไทยที่สนับสนุนให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (EXIM Bank) ปล่อยเงินกู้ให้กับประเทศพม่าเป็นเงิน 4,000 ล้านบาท

ความจริงแค่รัฐบาลไทยใจกล้าให้เงินกู้ประเทศพม่าก็ถือได้ว่าสุดยอดแล้ว เป็นที่รู้กันอยู่ว่ารัฐบาลพม่ามีปัญหามากในเรื่องเครดิตและปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ประเทศทางซีกตะวันตกเขาหนีกันหมด แซงชั่น กันทุกอย่าง ไม่มีประเทศไหนอยากคบค้าด้วย

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 ธนาคารโลกจัดอันดับรัฐบาลพม่าว่าเป็นรัฐบาลที่เบี้ยวหนี้ แม้แต่ IMF ก็ไม่ให้ความช่วยเหลือใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนADB ที่ให้ความช่วยเหลือ ให้เงินกู้กับประเทศในภาคพื้นเอเชียนั้น เชื่อกันว่าประเทศพม่ายังเป็นหนี้ ADB อยู่ อาจถึง 30 ล้านเหรียญสหรัฐพูดง่ายๆ ว่า

เวลานี้ไม่มีธนาคารไหนในโลกให้ประเทศพม่ากู้ รัฐบาลไทยไม่รู้เรื่องราวเหล่านี้หรือครับ

คำตอบ คือ รู้ทั้งรู้ แต่ผลประโยชน์ทางธุรกิจส่วนตัวมันมาบังตาผลประโยชน์ของประเทศชาติ รัฐบาลไทยให้พม่ากู้เงิน 4,000 ล้านบาท แบบผ่อนปรน ไม่มีการกำหนดแนวทางการนำเงินกู้ไปใช้ ว่าจะกู้เพื่ออะไร จะเอาเงินกู้ไปทำอะไร แล้วแต่รัฐบาลพม่าทั้งสิ้นถ้าจะมองในแง่ของความช่วยเหลือเพื่อนบ้าน อาจพอฟังได้ แต่เมื่อตรวจสอบกันลึก ๆ แล้ว เข้าใจได้เลยว่า นี่แหละ “ทุจริตเชิงนโยบาย”

เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ ในวงเงิน 4,000 ล้านบาทที่ให้รัฐบาลกู้นั้น โครงการที่ถูกเพ่งเล็งมากที่สุด ได้แก่โครงการเช่าสัญญาณดาวเทียม (Broadband Satellite System) ของบริษัท Shin Sattellite) แปลก ไม่หน้าเชื่อใช่ไหมครับ ประเทศพม่าใช้ระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง!!

ผมนำเรื่องนี้สอบถามรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎร ได้รับคำตอบจากรัฐบาลว่า รัฐบาลพม่าต้องการนำระบบดาวเทียมมาใช้กับระบบโทรศัพท์พื้นฐานธรรมดา แล้วไงครับ การใช้สัญญาณดาวเทียมในระบบโทรศัพท์พื้นฐานต้นทุนสูง ทำให้ไม่คุ้มค่าในการลงทุน โครงการแบบนี้หาเงินกู้ยาก ไม่มีสถาบันการเงินที่ไหนจะเต็มใจให้กู้

มีการวิ่งเต้นจนสำเร็จครับ รัฐบาลไทยอนุมัติปล่อยเงินกู้ให้พม่า เงื่อนไขของเงินกู้ คือต้องใช้สินค้าหรือบริการของไทยเรา เข้าล็อคครับ เพราะมีบริษัทของคุณทักษิณเท่านั้นที่มีดาวเทียม จริงไหมครับ บริษัท Shin Sattellite จึงได้เซ็นสัญญาโดยไม่มีการแข่งขันแต่ประการใด

ส่วนของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าหรือ EXIM Bank ก็ไม่เคยปล่อยให้ใครกู้ในลักษณะนี้มาก่อน เมื่อรัฐบาลบังคับ จึงไม่มีทางเลือก ต้องสนองนโยบาย แต่ก็กลัวครับ กลัวหนี้จะสูญ จึงนำเรื่องขออนุมัติคณะรัฐมนตรีให้ช่วยรับผิดชอบ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าเสนอว่าให้กระทรวงการคลังจัดสรรงบประมาณใช้คืนให้ธนาคาร หากรัฐบาลพม่าเบี้ยวหนี้ เขารู้ครับว่าความเสี่ยงสูง จำเป็นต้องรักษาผลประโยชน์ของหน่วยงาน

คณะรัฐมนตรีอนุมัติทันทีครับ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2547 ผู้รับเคราะห์กลายเป็นประชาชนคนไทยผู้เสียภาษี เพราะเมื่อพม่า ไม่มีปัญญาจ่ายคืนเงินกู้ ครม. อนุมัติให้ใช้เงินภาษีของพวกเราจ่ายแทนได้

แน่นอนที่สุด บริษัทของครอบครัวหัวหน้ารัฐบาลได้งานนี้ไปแล้ว รับเงินครบถ้วนบริษัทมีรายได้เพิ่ม หุ้นปรับตัวสูงขึ้น ไม่แปลกใช่ไหมครับ

พูดถึง AIS และ Shin Sattellite แล้ว ยังเหลือ ITV อีกครับ

เรื่องของไอทีวีหนีไม่พ้น การขอแก้ไขสัญญาที่มีไว้กับรัฐ ฟังดูแล้วก็ไม่ต่างจากเรื่องอื่นๆ ครับ รัฐบาลคุณทักษิณ ยอมให้มีการแก้ไขสัญญาระหว่างรัฐบาลกับภาคเอกชนในลักษณะที่รัฐบาลเสียผลประโยชน์ กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว

ไอทีวีต้องการลดค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายให้กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีครับได้มีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ เพื่อพิจารณาคำร้องเรียนของไอทีวี ใช้เวลาไปปีกว่า ผลคำตัดสินจากอนุญาโตตุลาการทำให้รัฐต้องเสียประโยชน์ ไอทีวีจ่ายค่าสัมปทานให้กับรัฐเหลือเพียงปีละ 230 ล้านบาทตลอดระยะเวลาที่เหลืออยู่ของสัญญา ค่าตอบแทนที่รัฐพึงได้รับจึงลดลงเหลือแค่ 7,790 ล้านบาท จากเดิมที่ควรจะได้ 25,200 ล้านบาท เท่ากับว่ารัฐสูญเสียรายได้ถึง 17,410 ล้านบาท เมื่อมีผู้เสียประโยชน์ ย่อมมีผู้ได้รับประโยชน์พร้อมกันไป

นอกจากนี้ไอทีวียังสามารถเสนอรายการบันเทิงในช่วงเวลา 19.00น. – 21.30 น. แม้มีข้อกำหนดว่ายังต้องเสนอรายการข่าว สารคดี และสาระประโยชน์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของเวลาออกอากาศทั้งหมด จากเดิมที่กำหนดสัดส่วนไว้ที่ร้อยละ 70 ทำให้ไอทีวีสามารถมีรายได้จากอัตราค่าโฆษณาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรายการบันเทิงในช่วงไพร์มไทม์เป็นเงินมหาศาล เรียกได้ว่า ไอทีวีได้เปลี่ยนจากทีวีเสรี มาเป็นทีวีเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของบริษัทชิน และเพื่อการรณรงค์ทางการเมืองให้กับพรรคไทยรักไทยอย่างสมบูรณ์แบบไปแล้ว

ท่านผู้อ่านคงคาดเดาได้ไม่ยากว่า ราคาหุ้นของไอทีวีน่าจะฉุดไว้ไม่อยู่แน่ และผู้ถือหุ้นไอทีวีก็ไม่ใช่ใครอื่น ก็บริษัท SHIN นั่นเอง

แต่มาวันนี้ข้อมูลก็ปรากฎชัดแล้วครับว่าการแก้ไขสัญญา ทำให้เพิ่มมูลค่าหุ้นชินจริงเพราะทันทีที่ศาลปกครองตัดสินใจให้เพิกถอนคำวินิจฉันของคณะอนุญาโตตุลาการ หุ้นของไอทีวีร่วงหล่นลงติดฟลอร์ เหลือเพียง 1.96 * บาท จากที่บางช่วงหุ้นไอทีวีเคยพุ่งสูงถึง 30 บาท ผลประกอบการของไอทีวีพลิกจากตัวดำเป็นแดงทันตาเห็น

แล้วแบบนี้จะไม่ให้เรียกว่าทุจริตเชิงนโยบายได้อย่างไรครับ

ท่านผู้อ่านคงจะพอเข้าใจแล้วนะครับว่า การทำให้บริษัทลูกของ SHIN ไม่ว่าจะเป็น AIS หรือ Shin Sattellite หรือไอทีวี ให้สามารถประกอบกิจการได้ โดยมีกำไรเพิ่มขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ส่งผลต่อให้ราคาหุ้นของบริษัท SHIN ปรับราคาสูงขึ้นตามไปด้วยราคาสูงขึ้นเท่าไหร่ คุณทักษิณและครอบครัวก็รวยเพิ่มขึ้นเท่านั้น

ที่กล่าวมาแล้ว เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สนับสนุนการทำกำไรให้กับธุรกิจของครอบครัวชินวัตรซึ่งอำนวยการโดยรัฐบาลภายใต้การนำของหัวหน้าครอบครัวที่ชื่อ ทักษิณ

เมื่อท่านผู้อ่านได้อ่านต่อไป จะเข้าใจเพิ่มขึ้นว่า ทำไมรัฐบาลนี้ถึงรีบเร่งในการนำหุ้นของรัฐวิสาหกิจที่เป็นเพชรน้ำหนึ่งของประเทศ เช่น ปตท. อสมท. โรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ล่าสุดที่เกือบพลาดไปอีก คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งบริษัทเหล่านี้จัดเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีผลงานดีเด่นและเป็นรัฐวิสาหกิจที่ค้าขายกับสมบัติแผ่นดินทั้งสิ้น

ท่านผู้อ่านครับ ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นได้ไม่ใช่เพราะกิจการของบริษัทมีกำไรดีเท่านั้น องค์ประกอบที่มีความสำคัญมากอีกประการหนึ่งคือ บรรยากาศการซื้อ – ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ คิดง่าย ๆ เปรียบเทียบตลาดหลักทรัพย์เหมือนตลาดสดนะครับ ตลาดไหนมีสินค้าดีขายอยู่มาก มีลูกค้าเยอะ ตลาดนั้นก็จะโตและมีความคึกคัก

ถ้าตลาดหลักทรัพย์โต ก็หมายความว่ามีสภาพคล่องสูง โดยธรรมชาติเมื่อตลาดโตหุ้นก็มักจะขยับขึ้น เพราะฉะนั้นนโยบายสำคัญของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่เข้ามาดำเนินการ คือทำให้ตลาดทุนโต เมื่อตลาดทุนใหญ่ขึ้น หุ้นทั้งหลายก็มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น สังเกตได้ว่าตลาดที่เคยมีดัชนีอยู่ในระดับประมาณ 350 ก็เพิ่มสูงขึ้นไปถึงประมาณ 700 – 800 เพราะฉะนั้นก็ถือว่าได้ปรับตัวสูงขึ้นพอสมควรประมาณ 2 เท่า

เมื่อตลาดปรับตัวสูงขึ้นและไปสอดรับกับนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลของคุณทักษิณได้วางเอาไว้เพื่อให้หุ้นชินมีผลประกอบการที่ดี ทำให้นักลงทุนมองเห็นว่าหุ้นในกลุ่มชินน่าเข้ามาลงทุน อนาคตของหุ้นนี้ก็มีความสดใสในตลาดหุ้นแล้วครับ

ภายหลังจากการบริหารงานของคุณทักษิณมา 5 ปี ซึ่งไม่แน่ใจว่าคุณทักษิณกำลังบริหารประเทศ หรือบริหารธุรกิจของตนเองอยู่ ภารกิจของคุณทักษิณก็เสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์ครับ เมื่อมีการขายหุ้นชินให้กับกลุ่มเทมาเส็ค ในวันที่ 23 มกราคม 2549 ทำให้ครอบครัวคุณทักษิณได้เงินถึงเจ็ดหมื่นกว่าล้านบาท (โดยไม่ต้องเสียภาษี) เปรียบเทียบจากวันแรกที่เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ครอบครัวคุณทักษิณมีมูลค่าทรัพย์สินไม่ถึงสองหมื่นล้าน

แล้วท่านผู้อ่านคิดอย่างไรครับ กับผู้นำของประเทศที่ยังแยกกันไม่ออกว่าตัวเองกำลังบริหารธุรกิจของครอบครัวหรือกำลังบริหารประเทศ

แบ่งปันเรื่องราว:
  • Print
  • del.icio.us
  • Facebook
  • email
  • PDF
  • Twitter

Tags: , ,

Comments are closed.

Twitter

TwitPic

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
Korbsak.com
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ค้นหา