กบผู้ฆ่ายักษ์

กบผู้ฆ่ายักษ์

ช่วงนี้มีแต่คนบ่นว่าของแพงแล้วต่อว่ารัฐบาลว่าไม่เอาไหน ไม่ดูแลควบคุมราคาสินค้า ปล่อยให้ราคาขยับขึ้นเป็นว่าเล่น   คนที่สนใจการเมืองตามงานของรัฐบาลมาตลอดก็อาจดักคอว่า  รัฐฯทำงานรูปแบบเดิมๆ พอสินค้าขึ้นราคาก็เชิญผู้เกี่ยวข้องมาพบที่กระทรวงฯ   ขอความร่วมมือตามด้วยมาตรการธงฟ้าขายสินค้าราคาถูกช่วยผู้มีรายได้น้อยทำกันอย่างนี้เป็นประจำ  ผ่านมาหลายรัฐบาลเต็มที  ทุกอย่างก็เหมือนเดิม  ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นแม้แต่น้อย

สำหรับท่านผู้อ่านที่ได้อ่านบทความ กบนอก(ทำเนียบ)กะลา มาก่อนหน้านี้อาจจำได้ว่า   ผมได้ปูทางไว้ในบทความไว้คร่าวๆ อย่างนี้ครับ

ส่วนที่ ๑ ราคาสินค้า

คำถามเริ่มต้นที่ ๑. ทำอย่างไรให้สินค้าราคาถูก และ

๒. ผู้ผลิตต้องไม่ขาดทุน

ทีมงานตกผลึกกันท้ายสุดว่า การแข่งขันอย่างโปร่งใสเท่านั้นที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุด และต้องให้มีการแข่งขันทุกลำดับชั้นตั้งแต่จุดเริ่มต้นคือ  เกษตรกรผู้ผลิต พ่อค้าคนกลาง ไปจนถึงปลายทางคือพ่อค้าแม่ขาย  ที่นำสินค้าวางขายทั้งที่ในตลาดสดและในห้าง

เวลาเพียง ๖ สัปดาห์ น้อยเกินไปที่จะไปดูตัวสินค้าได้ครบ  จึงได้เลือกเฉพาะ ๓ ตัวหลัก   หมู  ไก่เนื้อ และ ไข่ไก่เพราะเชื่อว่าทุกครัวเรือนขาด ๓ ตัวนี้ไม่ได้ (ความจริงยังมีตัวสินค้าที่สำคัญอื่นอีกเช่น ข้าวสาร ผักสด น้ำมันพืช เป็นต้น)

ถึงแม้ว่าเราจะเข้าไปศึกษาและวิเคราะห์ในเชิงลึกของสินค้าเพียง ๓ ตัวหลัก  แนวทางการแก้ปัญหาจะช่วยแก้ปัญหาให้กับสินค้าตัวอื่นๆ ด้วยเช่นกัน  ความจริงตั้งใจว่าจะคุยให้ฟังถึงสภาพปัญหาของสินค้าแต่ละตัวพร้อมทั้งแผนปฎิบัติการที่ชัดเจนว่ารัฐฯจะเดินหน้าต่อเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร

ตอนนี้เปลี่ยนใจแล้ว เพราะกลัวว่าจะเป็นเหมือนกับการเล่าที่เป็นวิชาการ  คุยว่าจะแก้ปัญหาแต่ไม่พูดถึงต้นตอของปัญหาที่แท้จริงเหมือนขี่ม้าเลียบค่าย ไม่ได้บุกเข้าค่ายเสียที   ผมคิดว่าถึงเวลาที่เราควรจะพูดกันตรงๆ ตามไตเติ้ลครับ “กบผู้ฆ่ายักษ์

พูดกันแบบเสียงดังฟังชัดคือ   ราคาสินค้าหลายตัวในขณะนี้มีระบบการจัดการแบบผูกขาด โดยยักษ์ใหญ่ในวงการที่ทำตัวเป็นพี่เบิ้ม  กำหนดราคาได้เกือบทุกขั้นตอนของระบบ  ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างการผลิตหรือโครงสร้างการตลาด  ความจริงเรื่องอย่างนี้รู้กันดีในแวดวงธุรกิจ   แต่ไม่ค่อยมีใครกล้าที่จะพูดในที่สาธารณะ

ปัญหาการทำธุรกิจของยักษ์ใหญ่ในวงการในลักษณะที่วางเป้าหมายให้ธุรกิจสามารถมีอำนาจเหนือตลาด ต้องได้รับการแก้ไข  ดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบกับเกษตรกร  ผู้ค้ารายย่อย และผู้บริโภคครับ

ข้อเสนอของทีมงานที่จะแก้ไขปัญหาการผูกขาด  การมีอำนาจเหนือตลาด  ทำได้ในเบื้องต้นอย่างนี้ครับ

๑.      เรามีพ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้ามาเกือบ ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๔๒) แล้ว  แต่เป็นเสือกระดาษเต็มรูปแบบ ต้องเริ่มต้นใหม่ โดยการปรับปรุงกฎหมายเช่นให้ครอบคลุมรัฐวิสาหกิจด้วย  ส่วนนี้ใช้จะเวลา

๒.      ทบทวนเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาดเสียใหม่ และจัดรูปแบบองค์กรการกำกับดูแลการแข่งขันให้ทำงานในเชิงรุก   มีความคล่องตัว   มีคณะทำงานติดตามข้อมูล – พฤติกรรม   เช่น กำหนดมาตรการแจ้งปริมาณ  สถานที่เก็บข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  (ต้นทุนอาหารสัตว์)  งานนี้อยู่ที่กระทรวงพานิชย์

๓.      ปรับปรุงโครงสร้างของคณะกรรมการนโยบายที่มีอยู่ เช่น Egg Board, Pig Board เสียใหม่   เสียดายที่บอร์ดเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เกษตรกรได้ประโยชน์เท่าที่ควร  พี่เบิ้มในวงการใช้กลไกตรงนี้ครับเป็นตัวเชื่อมกับนโยบายของภาครัฐฯ    เอื้อประโยชน์โดยสามารถมีส่วนในการกำหนดนโยบาย   ช่องโหว่ตรงนี้ต้องแก้ไข งานนี้กระทรวงเกษตรฯรับไปเต็มๆ

ทั้งสามข้อดูสั้นง่าย แต่การทำให้เกิดผลในทางปฎิบัติจะเป็นเรื่องที่ยากสุด  รัฐบาลต้องกล้าเดินหน้าแก้ปัญหาก่อนที่จะสายเกินแก้ครับ  เราต้องมีมาตรการมากพอที่จะส่งสัญญานให้ยักษ์ใหญ่ได้ตระหนักว่า ท่านต้องไม่คิดที่จะมุ่งทำธุรกิจเพื่อให้มีอำนาจเหนือตลาดเหมือนที่เคยอีกต่อไป

งานสำคัญที่ต้องเดินหน้าควบคู่ไปคือ รัฐฯต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร เป็นที่ยอมรับกันว่าเกษตรกรอิสระ(รายย่อย) ยากที่จะอยู่อย่างโดดเดียว การรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์ เป็นทางออกที่สามารถยืนต่อสู้ในเวทีของการแข่งขันกับรายใหญ่ได้   แต่รัฐฯต้องส่งเสริมระบบสหกรณ์อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง  ตั้งแต่ช่วยให้เขาสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่าย   รวมถึงให้มีอำนาจการต่อรองด้านพันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ และการกำหนดราคาเป็นต้น

แม้กระทั่งเกษตรกรที่มีพันธสัญญา (Contract Farming) รัฐฯก็ต้องมีมาตรการดูแลไม่ให้มีการเอาเปรียบทางสัญญาระหว่างเกษตรกรกับบริษัทคู่สัญญา เช่นด้านค่าตอบแทน  หรือการส่งพันธุ์สัตว์ ตามกำหนดเวลาเป็นต้น

อีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจคือเรื่องของอาหารสัตว์   ถ้าเราดูสินค้าสามตัวหลักไม่ว่าจะเป็น  หมู ไก่เนื้อ  ไข่ไก่    ต้นทุนค่าอาหารสัตว์ของไก่เนื้ออยู่ที่ 56%  ของไข่ไก่ประมาณ 85%  และของหมู 70%   ตัวเลขบ่งบอกชัดว่าราคาสินค้าทั้งสามตัวจะขึ้นหรือลง   ราคาอาหารสัตว์เป็นตัวแปรที่สำคัญอันดับต้นๆ ทีเดียว

วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง กากถั่วเหลือง    บ้านเรามีข้าวโพดอยู่บ้าง  มันสำปะหลังก็มีแต่ถูกแย่งไปทำเป็นเอทานอลส่วนหนึ่ง  กากถั่วเหลืองเราต้องนำเข้า   ข้อเสนอของทีมงานคือการเร่งเพิ่มความสามารถในผลผลิตของข้าวโพด (ผลผลิตของไทย 650 กิโลกรัมต่อไร่, สหรัฐ 1,654 กิโลกรัมต่อไร่) ที่ยังมีโอกาสเพิ่มได้อีกมาก   มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการวางแผนการผลิตมันสำปะหลังให้เหมาะกับสภาพพื้นที่  และการใช้ประโยชน์เป็นต้น

ยักษ์ใหญ่ได้เปรียบสุดๆ ในเรื่องของอาหารสัตว์  เขาสามารถซื้อวัตถุดิบได้ครั้งละปริมาณมากๆ ในราคาถูก  และมีไซโลไว้เก็บ  ส่วนเกษตรกรที่ต้องการผสมอาหารสัตว์เอง  ซื้อได้เท่าที่ใช้เพราะไม่มีไซโลไว้เก็บ  ซื้อน้อยก็ต้องจ่ายแพง  ทำให้ต้นทุนสูงแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ไม่ได้  ทางออกคือการจับคู่สหกรณ์ของเกษตรกรปลูกข้าวโพด และสหกรณ์ของเกษตรกรที่ต้องการข้าวโพด   โดยรัฐสนับสนุนด้านการเงินและการสร้างไซโลให้สหกรณ์อย่างนี้ เป็นต้น

ปัญหาการคอรัปชั่นที่เกิดจากการนำเข้ากากถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลาป่น   เป็นประเด็นที่คลาสสิคในตัวของมันเอง  การกำหนดให้คณะกรรมการนโยบายอาหารมีมาตรการที่โปร่งใส   ผลการพิจารณาอนุญาตต้องออกตรงเวลาที่กำหนดของทุกปี ไม่ว่าจะเป็นระเบียบของกระทรวงพานิชย์หรือประกาศของกระทรวงการคลังก็ตาม  มาตรการที่โปร่งใสจะลดต้นทุนการนำเข้าได้เป็นอย่างดี

ท้ายสุดคือเรื่องของตลาด   ปัญหาของพ่อค้าคนกลางที่ได้ยินได้ฟังมาในอดีต อาจมีน้อยลงเพราะได้ถูกแย่งบทบาทไปพอสมควร   ยักษ์ใหญ่เข้ามามีอำนาจเหนือตลาด  ทำให้พ่อค้าคนกลางจ๋อยไป

เรามีผู้ค้าปลีกแบบที่เรียกว่าตลาดสดและผู้ค้าปลีกที่เราเรียกว่าการค้าสมัยใหม่  ถ้าดูผิวเผินจะมีความรู้สึกว่าการค้าสมัยใหม่ครองตลาดผู้ซื้อจำนวนมาก  แต่ตามตัวเลขปรากฎว่าตรงกันข้าม   การค้าสมัยใหม่มีปริมาณการค้าเพียงร้อยละ ๒๐ – ๓๐ ของปริมาณทั้งหมดเท่านั้น   ประชาชนซื้อไข่ไก่  เนื้อหมู ไก่เนื้อ จากตลาดสดถึงร้อยละ ๗๐ – ๘๐

ประชาชนผู้จับจ่ายใช้สอยควรจะต้องได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อตรวจสอบราคา   จะทำให้พ่อค้าต้องตื่นตัวแข่งขันกันมากขึ้น   ควรให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น เช่นการซื้อขายไข่ไก่ด้วยน้ำหนักแทนขนาด  ก็น่าจะช่วยทำให้ราคาสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น

รายละเอียดในแต่ละเรื่องมีมากครับ  จากนี้ไปรัฐบาลคงจะได้นำข้อมูลจากการเข้าค่ายของทีมงานรวบรวมนำมาเปิดเผยที่เว็บของกระทรวงฯต่างๆ ที่รับผิดชอบ

โครงการคิดนอกกรอบ-กบนอกกะลา จะสำเร็จได้หนีไม่พ้นความร่วมมือของเพื่อนข้าราชการและผู้บังคับบัญชาระดับสูง    โดยเฉพาะความสามารถของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงและรัฐบาล

ปีนี้เป็นปีเลือกตั้ง   รัฐบาลมีความกล้าที่ประกาศแผนปฎิบัติการที่จะทำให้เกิดได้จริงภายใน ๖ เดือน  แต่ละเดือนที่ผ่านไปคงจะถูกประชาชนตรวจสอบการทำงานอย่างเข้มข้น   ฟังดูแล้วก็ตื่นเต้นดีเหมือนกัน

แบ่งปันเรื่องราว:
  • Print
  • del.icio.us
  • Facebook
  • email
  • PDF
  • Twitter

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

Twitter

TwitPic

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
Korbsak.com
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ค้นหา