กบพลังงาน

กบพลังงาน

ทุกครัวเรือนหนีไม่พ้นที่ต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเช่น  ค่าไฟ  ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซหุงต้มทุกเดือน ราคาพลังงานจึงเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวประชาชนมาก  นักการเมืองกับประชาชนเป็นคู่แฝด  นักการเมืองจึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของพลังงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

โชคร้ายที่ราคาพลังงานมีแน้วโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง   ธรรมชาติในเรื่องของราคา  ของมีน้อย  คนต้องการใช้มีมาก    ราคามีแต่ขาขึ้น  ไม่มีคำว่าถูกสำหรับราคาพลังงานในอนาคต

ประเทศที่ส่งออกพลังงานจึงร่ำรวยมหาศาล ขณะที่ประเทศนำเข้าพลังงานถ้าไม่มีคนมีฝีมือมาบริหารมักจะไปไม่รอด   ไทยเราอยู่ประเภทหลังคือเป็นประเทศที่นำเข้าพลังงาน แต่ไม่เลวร้ายนักเพราะไทยไม่ถึงกับต้องนำเข้าพลังงานทั้งหมด   บางส่วนเราพบและผลิตใช้เอง   เรามีก๊าซธรรมชาติบริเวณอ่าวไทย  น้ำมันดิบก็พอมีบ้างทั้งบนบกและในทะเล

โจทย์วันนี้เป็นเรื่องของราคา   ที่ไม่ต้องเถียงกันมากคือส่วนของราคาพลังงานที่นำเข้า เพราะขึ้นกับราคาตลาดโลก  ราคาจะขึ้นลงอย่างไรเราไม่มีทางเลือก  แพงมากแค่ไหนก็ต้องซื้อ  มีให้ใช้ดีกว่าไม่มีใช้เสียเลย

แต่ที่เถียงกันแล้วดูเหมือนไม่มีข้อยุติคือพลังงานที่เราค้นพบในผืนแผ่นดินไทย  แนวคิดบางกลุ่มบอกว่าเมื่อเป็นทรัพยากรของเราเอง  เราควรมีไว้ใช้ในราคาถูก   ฝ่ายที่มีความเห็นต่างใช้เหตุผลว่า   เราต้องกำหนดให้เป็นราคาตลาด ต้องไม่มีสองราคา  ถ้าปล่อยให้ราคาต่ำกว่าราคาตลาด  เราจะไม่รู้จักประหยัด  หรืออาจมีการลักลอบนำของถูกไปขายนอกประเทศอีกต่างหาก

นักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องตรงนี้แหละครับ จะกำหนดราคาอย่างไรดีที่เป็น win-win ธรรมชาติของการเมืองคือต้องให้ประชาชนส่วนใหญ่รักไว้ก่อน  นโยบายประชานิยมจึงไม่ใช่ของใหม่ มีคู่มากับประชาธิปไตยกับนักการเมืองมานานแล้ว  ถ้านักการเมืองกล้าตัดสินใจนำนโยบายที่ประชาชนอาจค่อยชอบ  แต่ประเทศชาติได้ประโยชน์ในระยะยาว นับได้ว่านักการเมืองนั้นมีความกล้าทางการเมือง (political will) ดูเหมือนจะเป็นคุณสมบัติที่ดี   แต่นักการเมืองประเภทนี้สอบตกมานักต่อนักแล้ว

ถ้าเป็นประชานิยมจ๋า  ให้ประชาชนรักมากๆ  แล้วไม่มีความกล้าทางการเมืองก็ต้องอุดหนุนราคาพลังงานกันสุดลิ่ม  มีให้ใช้ในราคาถูก  ใชกันเพลิน  ทรัพยากรนี้อาจหมดเร็ว   ต้องนำเข้าเพิ่มซึ่งจะเป็นราคาตลาด  รัฐฯต้องเข้าไปพยุงราคาอีก  ปัญหาก็จะบานปลายในที่สุด

แต่ถ้าไม่สนใจว่าประชาชนจะเดือดร้อน  เป็นวิชาการเต็มตัว   ยกเลิกการอุดหนุนทั้งหมดและขายทรัพยากรของเราในราคาตลาด  ผู้ผลิตจะมีรายได้ดีขึ้น   มีผลกำไรมหาศาล    ถ้าผู้ผลิตเป็นบริษัทของคนไทยก็ไม่ว่ากันแต่วันนี้ผู้ผลิต ( ปตท. ) ไม่ได้เป็นของพวกเราแล้ว  เกือบครึ่งของผู้ถือหุ้นบริษัทฯเป็นนักลงทุนต่างชาติ  รายได้นี้จะถูกแบ่งอย่างไม่เป็นธรรม

โจทย์ของท่านนายกฯ ที่มอบให้พวกเราคือ  ให้ไปจัดระเบียบโครงสร้างราคาพลังงานใหม่  น้ำมัน  ก๊าซหุงต้ม ไฟฟ้า เป้าหมายสุดท้ายให้เป็นระบบที่เป็นสากล ให้บริหารง่าย การเมืองยุ่งเกี่ยวได้น้อย และเป็นธรรมกับประชาชนส่วนรวมมากที่สุด  ถ้าต้องปรับเปลี่ยนระบบเดิมให้ดีขึ้น  ให้กำหนดช่วงของการปรับเปลี่ยนอย่างชัดเจนเพื่อให้ทุกคนสามารถปรับตัวได้ทัน   ท้ายสุดคือทำให้เป็น win-win ให้ได้   ประชาชนได้ประโยชน์และไม่เสียวินัย

ผมขอเริ่มต้นที่ค่าไฟฟ้า  รัฐบาลท่านนายกฯสมัครเป็นรัฐบาลแรกที่เข้าไปแบกภาระค่าไฟฟ้าให้ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย  รัฐบาลท่านนายกฯอภิสิทธิ์เดินหน้าโครงการนี้ต่อ แต่มีการปรับปรุงเงื่อนไข   โดยกำหนดการใช้ไฟของครัวเรือนไว้ที่ ๙๐ หน่วยต่อ ๑ มิเตอร์ ต่อ ๑ ครัวเรือนต่อเดือน   ถ้าครัวเรือนใช้ไฟเกินกว่า ๙๐ หน่วย ต้องจ่ายค่าไฟตามปกติ  ใครใช้ไม่เกิน ๙๐ หน่วย  รัฐบาลจ่ายแทน  โครงการไฟฟ้าฟรีรัฐบาลควักกระเป๋าจากเงินภาษีอุดหนุนปีละเกือบ ๑๕,๐๐๐ ล้านบาท

ที่ผมไม่เคยคาดมาก่อนคือตัวเลขครัวเรือนที่ได้ใช้ไฟฟรีครับ   ต่างจังหวัด ๘.๕ ล้าน  กทม. ๐.๖ ล้าน  รวมทั้งหมด ๙.๑ ล้านครัวเรือน  ครัวเรือนเฉลี่ยมีกัน ๓ คน   ตัวเลขบอกเราว่าประเทศไทยมีประชากรกว่า ๒๗ ล้านคนที่อยู่ในบ้านที่มีไฟ ๒-๓ ดวง  มีตู้เย็นขนาดเล็กเปิดๆปิดๆ  มีทีวีดูได้ไม่เกินวันละ ๓ ช.ม. มีเตารีดอาจเสี่ยงถ้ารีดผ้านานเกิน  เพราะเดี๋ยวจะใช้ไฟเกิน ๙๐ หน่วย

แสดงว่าเงินงบประมาณ เงินภาษีที่รัฐฯนำไปลงทุนผ่านรัฐวิสาหกิจ (การไฟฟ้า) เป็นหมื่นเป็นแสนล้านเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา   ไม่ใช่เป็นการลงทุนเพื่อ ๒๗ ล้านคนนี้  เพราะคนเหล่านี้ยากจน   ใช้ไฟฟ้าเพียงเท่าที่จำเป็น แต่เป็นการลงทุนเพื่อผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่มากกว่า

ในมุมมองของผม คนไทยทุกคนเป็นเจ้าของเงินงบประมาณ   ความเป็นธรรมจึงอยู่ที่ใครได้ประโยชน์จากการใช้เงินงบประมาณมาก ควรจ่ายมาก  ใครได้ประโยชน์น้อย ก็จ่ายน้อย    ถ้าเราจะต้องสร้างเขื่อนเพิ่ม  สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม  คนที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นนี้โดยตรงควรรับภาระตามสัดส่วนครับ

ทีมงานเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบว่าโครงสร้างราคาค่าไฟของไทย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆแล้วหน้าตาเป็นอย่างไร  คนที่ใช้ไฟมาก จ่ายค่าไฟมากหรือไม่

ดูกร๊าฟด้านบนให้เข้าใจง่ายคือเส้นแนวนอนสีเขียวของไทยมีการปรับระดับสูงขึ้นช่วง 150 kwh และปรับอีกเล็กน้อยช่วง 400 kwh  จาก 420-800 kwh เป็นเส้นตรงแนวนอน     ส่วน ฮ่องกง สิงค์โปร์ ปรับหลายขยัก   มาเลย์ปรับหลายขยักแต่เริ่มต้นค่าไฟถูกกว่าบ้านเรา   กร๊าฟนี้คือคำตอบว่าผู้ใช้ไฟฟ้ามากที่สุดของบ้านเรายังจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราที่อาจไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้าน้อย

ถามต่อว่าถ้าให้เกิดความเป็นธรรม   ผู้ใช้ไฟฟ้าน้อยสุด (๙๐ หรือน้อยกว่าหน่วยต่อเดือน) ไม่ต้องจ่ายได้หรือไม่ แล้วให้คนที่ใช้ไฟฟ้ามากหรือมากสุดแบกรับภาระแทน  ทีมงานดูตัวเลขแล้วปรับอัตราให้เป็นธรรมมากขึ้น หน้าตา กร๊าฟที่ปรับใหม่เป็นอย่างนี้ครับ

แนวนอนสีเขียวเส้นประใหม่ (TH – new illustrative) จะปรับให้มากขึ้นช่วง 400 – 450 kwh เล็กน้อย   เราจะใช้ระบบค่า ft เป็นตัวแปรในการคิดค่าไฟฟ้าใหม่    จะเริ่มเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔    ถ้าทำได้ตามที่ทีมงานนำเสนอ โครงการไฟฟ้าฟรีสามารถทำเป็นโครงการถาวรได้   ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า ๙๐ หน่วย ไม่เสียค่าไฟ   ผู้ที่ใช้ไฟฟ้ามาก จะเสียค่าไฟฟ้าในอัตราใหม่

โชคช่วยที่ค่า ft จะมีการปรับลดอยู่แล้วในเดือนพฤษภาคม  จึงเป็นโอกาศดีที่รัฐบาลจะปรับการคิดค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมได้อย่างถาวร   ผู้ใช้ไฟจะได้ปรับลดกันทุกราย  ใครใช้มากสุดลดน้อยสุด   ใช้มากปานกลางลดได้มากขึ้น     ส่วนครัวเรือนฐานะยากจนไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้า   ปรับอัตราใหม่ทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น   ไม่ต้องนำเงินภาษีปีละ ๑๕,๐๐๐ ล้านบาทจุนเจืออีกต่อไป

เรื่องของไฟฟ้ามีเท่านี้ครับ

ขอต่อไปที่ราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ทุกครัวเรือนมีใช้กันถ้วนหน้า  ถ้าปล่อยให้ราคาขึ้น กระทบคะแนนนิยมแน่  ประชาชนรู้ดีว่าก๊าซหุงต้มมาจากโรงแยกก๊าซที่ใช้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นวัตถุดิบ  ก๊าซธรรมชาติก็ของฉัน  โรงแยกก๊าซก็กู้เงินมาสร้างโดยฉันค้ำประกันให้   แล้วจะมาเอากำไรมากๆ  คิดราคาตลาดได้อย่างไร   นั่นคือความในใจของประชาชน

รัฐบาลที่ผ่านมาจึงไม่มีใครกล้าปรับราคาก๊าซหุงต้ม   ทีมงานนำหลักคิดที่ท่านนายกฯมอบให้แล้วนำมาจัดระเบียบโครงสร้างเสียใหม่   รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างนี้ครับ

ผู้ใช้ก๊าซแอลพีจีในราคาพิเศษมี ๓ กลุ่ม  ภาคอุตสาหกรรม  รัฐฯช่วย 7.28 พันล้านบาทต่อปี   ภาคครัวเรือนและขนส่ง (แท็กซี่) รัฐฯ ช่วย 10.63 พันล้านบาทต่อปี    รวมรัฐฯอุดหนุนประมาณ 18,000 ล้านบาทต่อปี

เงิน 18,000 ล้านบาทนี้มาจากกองทุนน้ำมันครับ

ถ้ายังไม่ทราบก็ขอให้รับรู้ไว้ด้วยว่า เวลาท่านเลี้ยวรถคันงามของท่านเข้าไปในปั๊มเพื่อเติมพลังนั้น ท่านจ่ายเพิ่มจากที่ควรจ่ายรวมเบ็ดเสร็จอย่างน้อยปีละ 18,000 ล้านบาท   กองทุนน้ำมันได้อำนาจพิเศษที่ไม่ควรมี คือกองทุนสามารถเรียกเก็บเงินจากประชาชนเข้ากองทุนได้โดยไม่ต้องออกเป็นกฎหมาย

ทีมงานจึงมีแนวความคิดปรับบทบาทของกองทุนเสียใหม่   จากนี้ไปกองทุนควรมีหน้าที่เพียงสองเรื่องคือ

๑. ใช้เงินกองทุนเพื่อสนับสนุนพลังงานทดแทน (ไบโอดีเซล ก๊าซโซฮอล) และ ๒. ยุทธศาสตร์การสำรองน้ำมันเท่านั้น     ยกเลิกการเก็บเงินเพื่อนำมาใช้พยุงราคาก๊าซหุงต้มทั้งหมด

แปลว่าจากนี้ไปราคาก๊าซหุงต้มจะปรับตัวขึ้น  และราคาน้ำมันหน้าปั๊มจะลดลงใช้หรือไม่ ?

ตอบว่าเราจะทยอยทำที่ละตัวครับ  ก๊าซหุงต้มสำหรับครัวเรือนนั้นราคาจะไม่ปรับทันที อาจใช้เวลาอีกประมาณ ๓-๔ ปี  ส่วนสำหรับขนส่งคือแท๊กซี่   รัฐฯสนับสนุนให้รถแท็กซี่เปลี่ยนเป็นระบบ เอ็น จี วี  อยู่แล้ว   อีก ๑ ปีก็คงเข้ารูปเข้ารอยได้ทั้งหมด   ส่วนของอุตสาหกรรมจะยกเลิกโดยให้เป็นราคาปกติ  ไม่อุดหนุนอีกต่อไป โดยให้เวลาประมาณ ๖ เดือน

เมื่อมีก๊าซสองราคาในระยะ ๓-๔ ปี รัฐฯจำเป็นต้องมีกลไกควบคุมซึ่งทีมงานได้คิดไว้อย่างเบ็ดเสร็จแล้ว (ขออนุญาตไม่เข้าไปในรายละเอียด)

เมื่อยกเลิกการเก็บเงินเพื่ออุดหนุนราคาก๊าซแอล พี จี   ราคาน้ำมันหน้าปั๊มจะลดลง ๑- ๒ บาทต่อลิตรทันทีในกรณีที่รัฐฯไม่มีนโยบายกันเงินไว้อุดหนุนเมื่อน้ำมันราคาขึ้น

เงินที่จะนำมาอุดหนุนราคาก๊าซแอล พี จี สำหรับก๊าซหุงต้มในครัวเรือน     จะต้องใช้จากเงินงบประมาณในเบื้องต้นครับและต้องมีการแก้กฎระเบียบให้รัฐฯ สามารถใช้เงินอุดหนุนนี้จากเงินค่าภาคหลวง   ที่รัฐฯ ได้รับจากการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ

ทั้งหมดเป็นงานเร่งด่วนที่เกี่ยวกับเรื่องของพลังงานที่รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ในระยะสั้น (๖ เดือน)     และวางรากฐานสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ที่จะได้เดินหน้าในระยะปานกลางและระยะยาวต่อไป

แบ่งปันเรื่องราว:
  • Print
  • del.icio.us
  • Facebook
  • email
  • PDF
  • Twitter

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

Twitter

TwitPic

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
Korbsak.com
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ค้นหา