นโยบายพรรคประชาธิปัตย์ ในสายตา ทีมเศรษฐกิจไทยรัฐ

Tue, Aug 22, 2006

English | เศรษฐกิจ

นโยบายพรรคประชาธิปัตย์ ในสายตา ทีมเศรษฐกิจไทยรัฐ

16 สิงหาคม 2549

สองวันก่อนทีมเศรษฐกิจของไทยรัฐได้ลงบทความวิเคราะห์นโยบายของพรรค ประชาธิปัตย์ โดยมีข้อความสรุปในทำนองว่า “ประชาชนคงจะต้องเลือกระหว่างนโยบายของแท้ (ไทยรักไทย) หรือของเทียม (ประชาธิปัตย์)”

ผมได้อ่านบทความนี้หลายรอบ และยอมรับว่าทีมเศรษฐกิจของไทยรัฐได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายของ ประชาธิปัตย์ได้ดีพอควร แต่ในฐานะที่ผมมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้โดยตรง จึงกล้าพูดได้ว่ารายละเอียดน่าจะไม่ครบถ้วน ไม่ครอบคลุมทั้งหมด เป็นไปได้ว่าทีมงานประชาธิปัตย์ยังไม่มีโอกาสชี้แจงในรายละเอียดของนโยบาย ได้อย่างครบบริบูรณ์ คงจะต้องใช้เวลาพูดคุยกันอีกสักระยะหนึ่งครับ

เราจะทำกันครับ เราจะตั้งโต๊ะเพื่อตอบคำถามในทุกๆเรื่องของนโยบาย เริ่มประมาณวันที่ 20 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป จะเริ่มที่นโยบายขนส่งมวลชนก่อน และทุกๆ สัปดาห์จากนั้นไป ก็จะเข้าไปในนโยบายทุกๆด้านในเชิงลึก เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจในสิ่งที่คุณอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ ต้องการนำเสนอ ประชาชนจะได้สามารถตัดสินใจได้ว่า คุณอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์เหมาะสมและพร้อมที่จะเป็นทางเลือกให้เข้า มาบริหารบ้านเมืองหรือไม่

ขออนุญาตที่จะพูดถึงบทความของทีมเศรษฐกิจไทยรัฐหน่อยครับ สำหรับพรรคการเมือง อย่างประชาธิปัตย์ ไม่มีอะไรจะเป็นความปรารถนาสูงสุดมากเท่ากับได้ฟังคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยว กับนโยบายของพรรค เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ถือได้ว่าเป็นกระจกเงาให้เราได้รับรู้ว่าคนอื่นเขา มอง เขาคิด เขาเห็นว่าสิ่งที่พรรคนำเสนอ มีข้อตำหนิ ข้อควรระมัดระวังอย่างไรบ้าง

ผมสนใจในข้อตำหนิและคำวิจารณ์ในหลายเรื่อง บางประเด็นที่วิจารณ์ก็ไม่เข้าใจในเจตนาของผู้แสดงความเห็นเท่าไหร่นัก เช่น ทีมเศรษฐกิจของไทยรัฐกล่าวว่า น้ำมันอาจจะมีการปรับราคาสูงถึง 200 เหรียญสหรัฐต่อ 1 บาร์เรล การที่พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายลดราคาน้ำมันเพียง 2 บาทจะมีความหมายอะไร ก็จริงครับ เพราะถ้ามีวันที่ว่านั้นจริง วันที่ราคาน้ำมันสูงจากวันนี้เพิ่มอีกร่วม 3 เท่า เศรษฐกิจของโลกน่าจะปั่นป่วนไม่เป็นขบวน คงไม่ต้องไปคิดลดราคาน้ำมันกันหรอกครับ เพราะปัญหาอื่นคงมีตามมาอย่างไม่อยากจะคิดถึง

ประเด็นการลดราคาน้ำมันเป็นอย่างนี้ครับ ราคาน้ำมันปัจจุบันเป็นราคาบิดเบือน ไม่ใช่ราคาที่สะท้อนความเป็นจริง ผมพูดว่าบิดเบือนเพราะราคาน้ำมันปัจจุบันซ่อนค่าชดเชยน้ำมันไว้จำนวนหนึ่ง เงินจำนวนนี้รัฐส่งให้กับกองทุนน้ำมันที่มีหนี้ค้างประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท หนี้สินนี้เกิดจากการที่รัฐบาลคุณทักษิณบริหารงานผิดพลาด ท่านผู้อ่านน่าจะจำได้ดี 6 เดือนก่อนการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2548 ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่รัฐบาลคุณทักษิณไม่กล้าที่จะปล่อยให้ราคาปรับสูงขึ้น กลัวเสียคะแนนนิยม จึงได้กู้เงินนอกระบบมาพยุงราคาน้ำมันไว้ ใช้เงินร่วมแสนล้านบาท หลังจากผ่านการเลือกตั้ง คุณทักษิณได้เป็นรัฐบาลแล้ว จึงยอมให้น้ำมันลอยตัวเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2548 แต่หนี้กองทุนนี้ไม่ได้หายไปไหน ยังมีอยู่ครับ

ท่านผู้อ่านครับ ผมถามง่ายๆ ว่าทำไมผู้ซื้อน้ำมันวันนี้ต้องจ่ายเงินในกระเป๋าตัวเองเพิ่มลิตรละ 2 บาท เพื่อนำเงินไปชดเชยความผิดของรัฐบาลในอดีตด้วย เรื่องนี้สำคัญครับ เพราะปัจจุบันประชาชนเดือดร้อนมาก เราเห็นว่าภาระหนี้ส่วนนี้ไม่ควรให้ผู้ใช้น้ำมันในปัจจุบันมารับผิดชอบ แบกภาระที่ตนเองไม่ได้ก่อขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่ราคาน้ำมันขยับสูงขึ้นเกือบจะเป็นรายวันก็ไม่ผิดนัก

ความจริงการชำระหนี้กองทุนมีหลายทางเลือก หลายวิธี เช่นยืดเวลาชำระหนี้กองทุนออกไป หรือใช้เงินงบประมาณมาชำระหนี้ พรรคประชาธิปัตย์พิจารณาแล้วพบว่า บริษัทปตท. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ มีกำไรมหาศาลจากการที่ได้รับกิจการผูกขาดในการค้าก๊าซธรรมชาติ ถ้าปตท.นำกำไรส่งคืนให้ผู้ถือหุ้นมากขึ้นกว่าเดิมอีกประมาณร้อยละ 20 เป็นเวลาประมาณ 3 ปี ( ปัจจุบันปันผลร้อยละ 30 ) ซึ่ง ปตท.สามารถทำได้อย่างแน่นอน นอกจากจะเป็นผลดีกับผู้ถือหุ้นโดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลก็จะได้เงินปันผลเพิ่มขึ้น เงินส่วนที่ได้รับเพิ่มขึ้นมีมากเพียงพอที่จะนำไปใช้หนี้เงินกองทุนพยุงราคา น้ำมันได้ ก็เท่านั้นเองครับ ทุกอย่างกลับเข้าสู่ระบบที่ดี ไม่มีการบิดเบือนราคาอีกต่อไป ข้อสำคัญในช่วงวิกฤตอย่างนี้ 2 บาทต่อลิตร หรือ 0.90 บาทต่อลิตร สำหรับดีเซล มีความหมายเหลือเกิน ผมได้นำตัวเลขกำไรของปตท.ที่มีการคาดการณ์ไว้มาให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณา เป็นการวิเคราะห์อย่างละเอียดของนักวิเคราะห์ทางการเงินที่มีชื่อเสียงของ ภาคเอกชน นักวิเคราะห์ประมานว่า ปตท. จะมีกำไรตั้งแต่ 80,000 – 100,000 ล้านบาทต่อปี ภายใน 3 ปีจากนี้ไป ตัวเลขกำไรใกล้เคียงกันทั้งสองแห่ง ต่างจากตัวเลขกำไรของทีมเศรษฐกิจไทยรัฐที่ได้อ้างถึง

ราคาสินค้าทั้งหลายทั้งปวงที่พึ่งการใช้น้ำมัน ไม่ว่าในการผลิตหรือการขนส่ง จะสามารถตรึงราคาหรือลดราคาสินค้าได้ สำหรับค่าไฟจะต้องมีการทบทวนสูตรการคิดค่าไฟฟ้าใหม่ เพราะเมื่อมีการยกเลิกการนำ กฟผ. เข้าตลาดหลักทรัพย์ ย่อมหมายความว่า ผลตอบแทนการลงทุนไม่จำเป็นต้องสูงตามกฎเกณฑ์ของตลาด (แปลง่ายง่ายว่าต้องไม่คิดแสวงหากำไรบนความเดือดร้อนของประชาชนเกินความ จำเป็นอีกต่อไป ) ราคาค่าไฟฟ้าก็สามารถปรับลดได้ ไฟฟ้าเป็นต้นทุนการผลิต ผู้ผลิตสินค้าต่างๆ น่าจะพอใจและยินดีตรึงราคาสินค้าของตนเอง ความจริงการหาทางลดราคา ทั้งราคาน้ำมันและราคาค่าไฟฟ้า ไม่ใช่เรื่องพิสดารอะไรตรงไหนเลย พรรคประชาธิปัตย์ถือหลักว่า ประชาชนต้องมาก่อน และนี่แหละครับ คือสิ่งที่ต้องทำ

ส่วนค่าแรงขั้นต่ำนั้น ถ้าอยากจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์กันและว่าตามทฤษฏีแล้ว บอกได้ว่า ไม่ควรจะมีการกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำเสียด้วยซ้ำ แต่โครงสร้างทางเศรษฐกิจของบ้านเรา ว่ากันตามทฤษฎีอย่างเดียวคงไม่ได้ และผมบอกตรงๆ เลยว่า ผมไม่พอใจและหงุดหงิดมาก เวลาได้ยินใครก็ตาม ที่ชอบพูดว่า “มาลงทุนในไทยดี เพราะเมืองไทยค่าแรงต่ำ ค่าแรงถูก” เลิกคิดอย่างนี้เสียทีเถอะครับ สงสารแรงงานไทยที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ยากจนอยู่ทุกวันนี้บ้าง เราต้องให้โอกาสแรงงานของเรา ให้สามารถเพิ่มทักษะ และอุตสาหกรรมของเรา เพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อพร้อมเข้าสู่การแข่งขัน ถึงเวลาแล้วที่เราควรจะกล้าพูดได้เสียทีว่า ประเทศไทยจะไม่ใช่ศูนย์การผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานถูกอีกต่อไป เราก้าวพ้นจุดนั้นไปแล้ว อย่ากดค่าแรงงานให้ถูก เพื่อประโยชน์ของนายทุนบางกลุ่ม บางพวกต่อไปอีกเลย

สำหรับนโยบายการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลคุณทักษิณ ที่ทีมเศรษฐกิจของไทยรัฐเรียกว่า “ของแท้” ไม่ว่าจะเป็นโครงการ SML ในอดีตหรือโครงการอำเภอละ 250 ล้านบาท โครงการใหม่เพื่อแก้ความยากจนนั้น ผมขอโต้แย้งว่าเป็นการใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างขาดหลักการ ไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้ในการหาเสียงเท่านั้น ครั้งแรกที่พรรคไทยรักไทยลงเลือกตั้ง ใช้นโยบายมอบเงินกองทุนให้หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท ครั้งที่สอง รัฐบาลไทยรักไทยเสนอนโยบายแจกเงินแบบให้เปล่า หมู่บ้านละ 2-3 แสนบาท หมู่บ้านจะนำไปใช้ทำอะไรก็ได้ มาวันนี้มาแนวใหม่พรรคไทยรักไทยมีนโยบายแจกเงินอำเภอละ 250 ล้านบาท เพื่อแก้ความยากจน

ถ้าจะเรียกนโยบายอย่างนี้ว่าเป็น “ของแท้” และสงวนลิขสิทธิ์ เชิญเลยครับ ไปจด ลิขสิทธิ์ได้เลย เชื่อว่าคนที่รู้จริง ย่อมเข้าใจดีว่า นโยบายอย่างนี้ไม่มีใครอยากที่จะเลียนแบบอย่างแน่นอน

ที่ขาดเสียไม่ได้ คือ นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผมขอผลัดไว้คุยเรื่องนี้โดยเฉพาะในสัปดาห์หน้าครับ

ผมไม่มีเจตนามาถกเถียง เพียงแต่ต้องการที่จะอธิบายเพิ่ม เพราะผมยืนยันได้ว่านโยบายประชาธิปัตย์ไม่ใช่ของเทียมดังที่ถูกกล่าวหา ทั้งหมดที่คุณอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์นำเสนอ มองไปที่หลักการเดียวที่ว่า ประชาชนต้องมาก่อน ครับ.

ข้อมูล
1. บทความ ทีมเศรษฐกิจ ไทยรัฐ  วันที่  14 สิงหาคม 2549
2. บทวิเคราะห์  รายได้ ปตท.  BNP PARIBAS PEREGRINEDEUTSCHE BANK

อ่านบทความ : นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

แบ่งปันเรื่องราว:
  • Print
  • del.icio.us
  • Facebook
  • email
  • PDF
  • Twitter

Tags:

Comments are closed.

Twitter

TwitPic

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
Korbsak.com
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ค้นหา