1.1ล้าน ล้านบาท

1.1ล้าน ล้านบาท

วันที่ 3 เมษายน 2550

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง นายสมหมาย ภาษี ให้สัมภาษณ์ว่า ธนาคารชาติได้ใช้เงินไปประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท เพื่อปกป้องค่าเงินบาท ไม่ทราบเจตนาของท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังว่าท่านพูดออกมาทำไม ที่รู้แน่ๆคือได้เป็นข่าวไปหลายวัน

นโยบายการเงินเป็นเรื่องของธนาคารชาติ กระทรวงการคลังไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้อง หน้าที่ใครหน้าที่มันครับ มีอยู่คนเดียวในกระทรวงการคลังที่อาจหนีความรับผิดชอบไม่ได้คือท่านรัฐมนตรี ว่าการกระทรวง หน่วยงานที่ช่วยงานท่านรัฐมนตรีในเรื่องนี้คือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ท่านรัฐมนตรี ฉลองภพ และทีมงาน(สศค.)เท่านั้น ที่น่าจะมีการรับรู้หรือแลกเปลี่ยนความเห็นกับธนาคารชาติในเรื่องของนโยบาย การเงินได้ ความเกี่ยวข้องตรงนี้ยังไม่ได้แยกออกจากกัน ดูได้จากการดูแลนโยบายการเงินของธนาคารชาติ ที่ยังหนีไม่พ้นต้องขอความเห็นชอบจากท่านรัฐมนตรี เช่น การขออนุมัติออกพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่องเป็นต้น

ว่าเสียยาว ไม่ใช่เห็นว่าธนาคารชาติใครแตะต้องไม่ได้ แต่คนระดับรัฐมนตรีต้องระมัดระวัง ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างนี้ เดินหน้าใส่เกียร์เฉพาะหน้าที่ในส่วนที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด น่าจะเหมาะสมกว่า

ที่ผมว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ ก็เพราะระบบการเงินของโลกอาจเกิดปัญหาที่รุนแรงในอนาคตอันใกล้ สืบเนื่องจากความไม่สมดุลของสภาพการเงินของแต่ละประเทศที่มีความแตกต่าง แต่เข้ามาเกี่ยวข้องกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเกี่ยวข้องและเกิดผลกระทบกับคนจำนวนมาก ประเทศในเอเชียได้อาศัยรายได้จากการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนความเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจมานาน ประเทศในเอเชียจึงมีนโยบายให้เงินของตนเองไม่แข็งจนเกินไป เพื่อเป็นการสนับสนุนการส่งออก ซึ่งก็รวมถึงประเทศไทยของเราด้วย

เมื่อ เศรษฐกิจของสหรัฐมีอาการ มีปัญหาตัวเลขการขาดดุลการค้าน่าตกใจ รัฐบาลของสหรัฐจึงใช้นโยบายเงินดอลล่าร์อ่อนเพื่อแก้ไขปัญหา เงินดอลล่าร์อ่อนเงินสกุลอื่นก็แข็งขึ้น สหรัฐเริ่มแก้ไขปัญหาของตนเองได้บ้าง แต่เกิดผลกระทบและเดือดร้อนกันไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย คู่ค้าสำคัญของสหรัฐ

ประเทศในเอเชียไม่ต้องการให้ค่าเงินของตนเองแข็งค่าขึ้น ต้องเข้ามาปกป้องปัญหาเรื่องค่าของเงินที่แข็งเกินไป ความผันผวนในเรื่องของค่าเงิน เกิดขึ้นตลอดเวลา เป็นช่วงๆ เป็นมาอย่างนี้หลายปีแล้ว ปี พ.ศ. 2549 ที่ผ่านมาถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่น่ากังวลมากที่สุด

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2549 บทความของผมใน korbsak.com หัวข้อ แสนล้านภายใน 6 สัปดาห์ ได้คุยให้ฟังถึงการปกป้องค่าเงินของ แบงก์ชาติ มีเนื้อหาบางส่วนอย่างนี้ครับ

Picture 12

ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2549 ผมได้ติติงธนาคารชาติ ที่ดำเนินนโยบายกีดกันเงินทุนไหลเข้าแบบครอบจักรวาล เป็นนโยบายที่ไม่ เหมาะสม แถมต้องรีบยกเลิกนโยบายบางส่วนภายใน 24 ชั่วโมง ความน่าเชื่อถือของธนาคารชาติที่ได้สะสมไว้เป็นเวลาช้านานหายไปในพริบตา พร้อมทั้งมูลค่าของตลาดทุนกว่า 8 แสนล้านบาท

ผ่านมาแล้วร่วม 5 เดือน ผลเป็นอย่างไร

ชัดเจนที่สุดคือ ธนาคารชาติยังคงต้องหาเงินบาทมาไล่ซื้อเงินเหรียญสหรัฐอยู่นั่นเอง แปลว่า มาตรการปกป้องค่าเงินบาท ไม่เป็นผลใช่หรือไม่

คงไม่ผิดหรอกครับที่จะพูดอย่างนั้น ดูตัวเลขล่าสุดในช่อง (7) Net Forward Position ( วันที่ 23 มีนาคม) คือตัวเลขที่ธนาคารชาติได้ซื้อดอลล่าร์ล่วงหน้าไว้ สูงถึง 9,420 ล้านเหรียญ เมื่อนำมารวมกับตัวเลขในช่อง (5) Foreign currency reserve ที่ 67,697.4 จะทำให้เราถือเงินสำรองสูงถึง 77,117.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,699,109 ล้านบาท

Picture 13

ถามว่า ถ้าวันนี้ธนาคารชาติไม่ได้ใช้นโยบายการปกป้องค่าเงิน โดยวิธีการนำเงินบาทมาไล่ซื้อเงินดอลล่าร์ เราควรจะมีเงินสำรองสักเท่าไหร่

ถ้าเราใช้ตัวเลขที่ปรากฎตามข้อมูลว่า ธนาคารชาติเริ่มมีการซื้อเงินเหรียญเมื่อเดือน มกราคม 2546 เป็นต้นมา เราจะพบว่า ในขณะนั้นเรามีเงินสำรองที่เป็นเงินตราต่างประเทศอยู่ 38,852 ล้านเหรียญ(ดูตัวเลขที่ช่อง (5) Foreign currency reserves วันที่ 31 มกราคม 2546 )บวก ที่ซื้อล่วงหน้าไว้ 700 ล้านเหรียญ (ดูตัวเลขที่ช่อง (7) Net Forward Position วันที่ 31 มกราคม 2546 ) รวมเป็นเงิน 39,552 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1,689,662 ล้านบาท ( 1 เหรียญ = 42.72 บาท )

Picture 14

แสดงว่า ธนาคารชาติ ได้นำเงินบาทไปซื้อเงินดอลล่าร์ แล้วเป็นเงินถึง 2,699,109 – 1,689,662 = 1,009,447 ล้านบาท ไม่ต่างไปจากที่ท่านรัฐมนตรีช่วยออกมาให้ข่าวมากนัก

ถ้าจะถามกันต่อไปว่า หลังจากที่ได้มีการประกาศมาตรการสุดโหดเมื่อ วันที่ 19 ธันวาคม 2549 ธนาคารชาติยังคงต้องแทรกแซงโดยใช้เงินบาทซื้อเงินเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ อีกหรือไม่ ตอบได้เลยว่า
ยังต้องแทรกแซงเหมือนเดิม

เมื่อนำตัวเลขมาเปรียบเทียบแล้วพบว่า ธนาคารชาติได้ใช้เงินบาทไล่ซื้อเงินดอลล่าร์สหรัฐไปแล้วประมาณ 100,000 ล้านบาทครับ

เป็นอย่างนี้ละครับ ทีละแสน ทีละสองแสน รวมไปรวมมา ใช้เงินไปแล้วกว่า 1 ล้านล้านบาท

แล้วเมื่อไหร่ถึงจะพอ เมื่อไหร่ถึงจะหยุดกันเสียที

ต้องเลิกคิดปกป้องค่าของเงินเสียทีครับ ยอมรับเสียเถิดว่าสงครามนี้ เราไม่มีวันที่จะชนะ

เลิกเสียเวลาไปวันๆหนึ่งกับการปกป้องค่าเงิน พอเสียที่กับเวลาที่ต้องหายไปกับการบริหารเงินทุนสำรอง ( เพราะกลัวขาดทุน)

ถึง เวลาแล้วครับ ที่ทั้งสองหน่วยงาน ทั้งกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย จะต้องร่วมมือกัน หาทิศทางการกำหนดนโยบายการคลัง และนโยบายการเงิน ให้ระบบเศรษฐกิจของเราได้มีการขยายตัวอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง เสียที วันนี้เราต้องหาแนวทางการพัฒนาประเทศที่ต้องฉีกตัวออกจากการพึ่งพารายได้จาก การส่งออกเป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเหมือนที่เคยทำมาในอดีต

เลิกกังวลกันได้แล้วว่า ถ้าปีนี้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้ร้อยละ5 ปีต่อไปต้องทำให้ได้เป็นร้อยละ6 สิ่งที่ต้องทำคือให้การขยายตัวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีเสถียรภาพรวม ทั้งต้องเป็นการขยายตัวที่คลอบคลุมถึงทุกภาคของเศรษฐกิจ

เตรียมไว้เถอะ เตรียมไว้ให้พร้อม สำหรับรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามารับผิดชอบ เมื่อมีข้อมูลพร้อม การตัดสินใจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะได้รวดเร็ว ไม่เสียเวลามากไปกว่านี้อีกต่อไป.

แบ่งปันเรื่องราว:
  • Print
  • del.icio.us
  • Facebook
  • email
  • PDF
  • Twitter

Tags: ,

Comments are closed.

Twitter

TwitPic

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
Korbsak.com
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ค้นหา