ยุทธศาสตร์ประเทศ (ตอนที่ ๓ – ผมรักประเทศไทย)

ยุทธศาสตร์ประเทศ (ตอนที่ ๓ – ผมรักประเทศไทย)

สัปดาห์นี้ขอคุยต่อจากที่ค้างไว้   อยากให้อ่านบทความ “ ผมรักกรุงเทพ ” ก่อน  เพื่อจะได้มีความต่อเนื่องครับ

“ ผมรักกรุงเทพ” เขียนไว้ช่วงที่ผมปลีกวิเวกอยู่ที่ปายและเป็นช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน

เป็นความฝันของคนที่ผ่านเกษียณแล้วและยังพอนึกภาพออกว่ากรุงเทพฯหน้าตาเป็นอย่างไรในอดีต  ที่นั่งเขียนในวันนั้นดูเหมือนจะเป็นเพียงแค่ความฝัน  เรียกว่าฝันลมๆแล้งๆก็คงไม่ผิดนัก

ผมรักประเทศไทย   เข้าสู่โมดที่ไม่ใช่ความฝันครับ  แต่ขยับมาเป็นเรื่องของความอยาก  ความต้องการที่จะให้ความฝันเป็นความจริงให้ได้   วันนี้จะคุยให้ฟังว่าความฝันจะมีโอกาสเป็นจริงได้หรือไม่

ยุทธศาสตร์ปรเทศ ตอนที่๓ เป็นข้อเสนอในการลงทุนภายใน ๔-๖ ปีหน้าของบริษัทประเทศไทยครับ (มีผลประโยชน์ทับซ้อนที่จะทำความฝันของผมให้เป็นจริงซ่อนอยู่ด้วย)

ขอเริ่มที่ประตูทางเข้า – ออก ของประเทศ  (ทางอากาศและทางน้ำ) เพราะรายได้ของประเทศหนีไม่พ้นการค้าขายในเวทีการค้าโลกและต้องผ่านประตูเข้า -ออกนี้ครับ

ทางอากาศที่เห็นชัดๆคือการลงทุนในสนามบินนานาชาติ กรุงเทพฯ  ภูเก็ต  เชียงใหม่ ขอนแก่น   ต้องลงทุนต่อยอดให้ทันสมัยพร้อมบริการอย่างดีเยี่ยม  รวมไปถึงสนามบินระดับรองเช่น สมุย กระบี่  ฯลฯ

สนามบินของกรุงเทพฯ  ทั้งดอนเมืองและสุวรรณภูมิ  ให้มีการลงทุนควบคู่กัน  แยกผู้บริหารและการบริหารจัดการของทั้งสองสนามบิน ให้มีความเป็นอิสระและให้มีการแข่งขันกันเอง   รัฐฯวางนโยบายให้ทั้งสองสนามบินมีความเป็นพิเศษ(unique) ในการดำเนินธุรกิจ เช่น  ดอนเมืองอาจเป็นสนามบินที่มีประสิทธิภาพและการบริการที่ดีเยี่ยมในราคาย่อมเยา  ส่วนสุวรรณภูมิเป็นสนามบินที่มีความหลากหลาย ครบทุกรูปแบบ เป็นต้น   ปล่อยให้ลูกค้าเขาเลือกใช้กันเอง   ไม่ต้องบังคับว่าต้องบินภายในและหรือระหว่างประเทศเท่านั้น

ขยายการลงทุน Airport Link เพื่อต่อเชื่อมระหว่าง ดอนเมืองและสุวรรณภูมิ

ทางน้ำ  เรามีประตูเข้า – ออก ของสินค้าทางเรือสองแห่งใหญ่คือ ท่าเรือกรุงเทพ (ขนาด ๑.๐ ล้านตู้)   ท่าเรือแหลมฉบัง (ขนาด ๓.๕ ล้าน ตู้)

การลงทุนท่าเรือถือเป็นหัวใจของการสร้างรายได้ให้กับประเทศ     ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องคิดสร้างเมืองที่มีเอกลักษณ์โดยเฉพาะเสียที ถ้าอ้างถึง core business  ข้อเสนอของผมคือกำหนดให้บริษัทลูก จังหวัดชลบุรี แหลมฉบัง  มีcore business เพิ่ม (นอกจากการท่องเที่ยว) คือเป็นเมืองท่าของบริษัทประเทศไทย (Laem Chabang – Harbor City) ครับ

ถ้าตกลงกันได้   เชื่อมกรุงเทพฯ – แหลมฉบัง ด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูง  ต่อกับเส้น Airport Link ที่สุวรรณภูมินั่นละครับ    เริ่มลงทุนคู่ขนาน คือการวางแผนการใช้พื้นที่ให้สอดคล้องกันทั้งแถบซีกตะวันออกชายฝั่งทะเลอ่าวไทย จาก ตราด  จันทบุรี ระยอง  มาบตาพุด  ชลบุรี (พัทยา) ลงทุนเส้นทางคมนาคมให้ครบเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ยุทธศาสตร์

หยุดขยายการลงทุนที่ท่าเรือกรุงเทพฯและทยอยลดขนาดการบริการจนเหลือศูนย์  หลังจากนั้นห้ามนำที่ดินท่าเรือมาใช้สร้างศุนย์การค้าอย่างเด็ดขาด   วางแผนสร้างสวนสาธรณะริมแม่น้ำเจ้าพระยา   พิพิธภัณฑ์  โรงลคร  ปลูกต้นไม้ใหญ่ให้เต็มไปหมด  ( ทำฝันผมให้เป็นจริง)

สำหรับผู้ถือหุ้นที่อยู่ในบริเวณแหล่งเสื่อมโทรม ( คลองเตย)  ควรพัฒนาให้เป็นศูนย์ เอสเอ็มอี เพื่อเป็นช่องทางการทำมาหากินพร้อมสร้างแฟลตมาตรฐานให้ประชาชนแถบนั้นได้มีโอกาสใช้ชีวิตความเป็นอยู่อย่างมีคุณภาพมากกว่าปัจจุบัน

เมื่อเรามีเมืองท่าที่สมบูรณ์   ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศจะสูงขึ้น  เป็นการลงทุนของบริษัทแม่เพื่อสนับสนุนให้บริษัทลูกๆสามารถค้าขายแข่งขันในเวทีโลกได้    แน่นอนครับ  การศึกษา   การลงทุนท้องถิ่น  ตลอดจนการบริหารของหน่วยราชการต้องปรับปรุงใหม่หมด บริหารจัดการให้เดินไปในทิศทางเดียวกันเพื่อรองรับภารกิจของความเป็นเมืองท่าที่ทันสมัย  ดำเนินการได้โดยใช้กฎหมายพื้นที่พิเศษที่ได้เคยคุยให้ฟังไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

การลงทุนประตูทางเข้า  - ออก ทั้งทางน้ำและทางเรือ ให้สมบูรณ์แบบในทุกมิติ  นอกจากจะส่งเสริมสินค้าที่เป็น core business คือเกษตรและท่องเที่ยวไม่ให้เป็นรองใครแล้ว   ยังจะได้เพิ่มโอกาสในการแข่งขันเพื่อการส่งออกให้กับสินค้าตัวอื่นๆ (รถยนตร์ จิวเวอรรี่ สิ่งพิมพ์ ฯลฯ) อีกด้วย

กลับมาที่กรุงเทพฯครับ   เราหยุดความเจริญของกรุงเทพฯไม่ได้แต่เราต้องควบคุม   ไม่ใช่ออกกฎหมายควบคุมนะครับ  แต่บริษัทประเทศไทยต้องลงทุนในบริษัทๆลูกๆ (จังหวัดอื่นๆ) ให้ทันสมัย  สดวกสบายและน่าอยู่  เปิดโอกาสให้กับคนที่คิดจะย้ายมากรุงเทพฯหรือคนที่อยู่กรุงเทพฯและพร้อมย้ายออก  โดยการสร้างงาน สร้างทางเลือกให้เขาเหล่านี้

ที่ไหนมีการลงทุน  ที่นั่นมีการสร้างงาน  มีงานมีคนครับ  การลงทุนต้องครบ  ต้องมีโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน  มีโรงเรียนที่ไม่แพ้หรือดีกว่าโรงเรียนในกรุงเทพฯอย่างนี้เป็นต้น  บริษัทลูกทั้ง ๗๖ บริษัทก็ไม่ได้มีความพร้อมไปทั้งหมด   ต้องเลือกกันละครับว่าจะเริ่มที่ไหนกันบ้าง   และต้องฉลาดเลือกไม่ใช่เลือกเพราะแรงกดดันทางการเมือง

ผมเชื่อว่าไม่มีใครอยากเห็นกรุงเทพฯเป็นป่าคอนกรีต ที่เต็มไปด้วยมลภาวะเลวร้ายทั้งน้ำ อากาศ  เสียง  จราจร ถ้าถามผมว่าเรากำลังเดินหน้าไปสู่จุดนั้นหรือไม่   คำตอบคือถึงแล้วครับและกำลังดิ่งลงเหวมากลงไปอีก

แต่บริษัทลูกเช่นกรุงเทพฯยังคงต้องมีการลงทุนต่อไปอีกระยะหนึ่ง  การลงทุนรถไฟฟ้า  ใต้ดิน บนดินต้องรีบสร้างให้ครบ loop โดยเร็ว   ให้เสร็จทั้งภายในเขตกรุงเทพฯ แล้วค่อยขยายเชื่อมต่อไปยังจังหวัดปริมณฑล   แต่อย่าสร้างกันตลอดการณ์   ต้องกำหนดให้ชัด  ๔-๖ ปีน่าจะเพียงพอแล้ว  ถ้าก่อสร้างไม่รู้จักหยุด  จะสร้างงานมาก  คนทะลักเข้ากรุงเทพมากขึ้นไปอีก   ปัญหากลับมาที่เก่า  เป็นวงจรอุบาทครับ

กรุงเทพฯเป็นเมืองใหญ่   ปัญหาจราจรแก้ไม่ได้ถ้าคนกรุงเทพฯยังต้องขับรถส่วนตัวไปทำงานหรือรับส่งลูกหลานไปโรงเรียน แต่เราไม่สามารถสร้างกฎ ระเบียบ แล้วนำมาใช้บังคับเพื่อแก้ปัญหาจราจร   ต้องสร้างทางเลือก   วันนี้ยังไม่มีทางเลือก   รัฐบาลจึงต้องเร่งลงทุนเพื่อสร้างทางเลือกครับ

ระบบรถเมล์ทำได้เร็วและต้องรีบดำเนินการ  ปรับเส้นทาง  ใช้รถเมล์ที่ทันสมัย  ซื้อ เช่าไม่ใช่ประเด็น  อย่างไหนดีที่สุดก็ต้องกล้าตัดสินใจ   อย่าให้มีฮั้ว  มีโกงเป็นใช้ได้  เมื่อสร้างรถไฟฟ้าเสร็จ  มีรถเมล์ใหม่บริการ  คนกรุงเทพฯจะตัดสินใจเองว่าจะเดินทางแบบไหนที่ถึงที่หมายเร็วและถูกสุด  ถ้าน้ำมันแพง  ที่จอดรถไม่มี  หรือมีก็สุดแพง   ไม่รวยจริงไม่นั่งรถเก่งส่วนตัวหรอกครับ

รัฐฯสามารถใช้กลไกทางภาษี  เพื่อนำรายได้จากผู้ที่ใช้รถเก่งส่วนตัวมาจุนเจือให้ราคาค่าโดยสารรถเมล์  รถไฟฟ้า ถูกลง   เป็นแรงจูงใจและเป็นธรรมสำหรับคนกรุงเทพฯส่วนใหญ่  บริษัทประเทศไทยก็จะได้ประโยชน์  ไม่ต้องจ่ายเงินซื้อน้ำมันดิบราคาแพงๆจากต่างประเทศ  คนกรุงเทพฯจะได้มีโอกาส มีเวลามากขึ้น ไปเดินเล่นในสวนแห่งใหม่ (ที่อยู่ในความฝันของผม) กับครอบครัว  กับสุนัขตัวโปรด   น่าจะดีกว่านั่งเล่นทวีตเตอร์ระหว่างรถติดเป็นชั่วโมงๆ

คุยได้แค่การลงทุนภายใน ๔-๖ ปีหน้าและเป็นเพียงแผนบางส่วนที่ควรมีการปรับจากแผนไทยเข็มแข็งเดิม  ยุทธศาสตร์ทางออก (exit strategy) คือปรับการลงทุนใหม่และพยายามใช้เงินลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะถ้าเป็นส่วนของเทคโนโลยี่และการบริหารจัดการที่รัฐยังบกพร่อง  ควรให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมที่เรียกว่า พี พี พี ( Public Private Partnership ) เพื่อแบ่งภาระและมีประสิทธิภาพมากกว่าในการบริหารจัดการ

สรุปข้อเสนอของผมได้ว่าเป็นการลงทุนเพื่อแก้ปัญหาความแออัดของกรุงเทพฯ  เป็นการสร้างทางเลือก  เป็นการสร้างเมืองท่าให้ครบสมบูรณ์แบบ  สร้างความเจริญไปยังเมืองท่าทางชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นครับ  บริษัทฯประเทศไทยยังต้องลงทุนอีกมาก  คงไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ  ไม่ใช่แค่แหลมฉบัง  ผมชี้ให้เห็นว่าถ้าลงทุนอย่างมีเป้าหมายแล้วเราได้อะไร ถ้าตามแผนนี้  เราได้ harbor city ที่มีความพร้อม ได้รถไฟความเร็วสูง ได้รถไฟฟ้าใต้ดิน   กรุงเทพฯมีสองสนามบินที่ได้มาตรฐานต่อเชื่อมกัน  ได้รถประจำทางใหม่พร้อมการปรับเส้นทางเดินรถ

ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯนี้ถูกหักเงินเดือนทุกเดือนส่งให้รัฐฯตลอดระยะเวลาที่ทำงาน ตลอดชีวิตก็ว่าได้ รวมแล้วเป็นเงินจำนวนมหาศาล   ผู้ถือหุ้นต้องควบคุมไม่ปล่อยให้รัฐบาลนำเงินไปลงทุนอย่างเปะปะ   ไร้ทิศทาง  บางครั้งเพียงเพียงเพื่อประโยชน์ของพรรคพวกและบริวาร

แนวทางการลงทุนอย่างมีเป้าหมายเพื่อนำรายได้กลับมาให้ผู้ถือหุ้น  เป็นแนวทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมนี้ได้  ผู้ถือหุ้นที่ต้องผ่อนส่งเงินภาษีจากหยาดเหงือของตนเองตลอดชีวิต  จะได้ผ่อนด้วยความเต็มใจเพราะรู้ว่าเงินที่เสียสละให้   มีการนำไปใช้จ่ายและได้กลับมาเป็นประโยชน์ให้กับตนเองและครอบครัว  ทั้งทางตรงและทางอ้อม

สัปดาห์หน้าจะคุยเรื่องสุดท้ายคือการแบ่งผลกำไรของบริษัทฯประเทศไทยให้กับผู้ถือหุ้นอย่างเป็นธรรม ( การจัดสรรงบประมาณ) และ ทางออกเพื่อลดช่องว่างระหว่างคนมีมาก และคนมีน้อย


แบ่งปันเรื่องราว:
  • Print
  • del.icio.us
  • Facebook
  • email
  • PDF
  • Twitter

Tags:

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

Twitter

TwitPic

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
Korbsak.com
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ค้นหา