ประเทศไทยต้องมาก่อน (Putting Thailand First)

Mon, Apr 26, 2010

English | การเมือง

ประเทศไทยต้องมาก่อน (Putting Thailand First)

เอายังไงดีครับ ๑. ยุบหรือไม่ยุบ  ๒. นายกลาออกแล้วหานายกใหม่  ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ   ๓. นายกอยู่ต่อ  เข้าสลายม๊อบ   จับตัวผู้ทำผิดกฎหมายมาลงโทษ  ยอมรับความสูญเสียบ้าง

เป็นคำถามยอดฮิตที่ยังไม่มีคำตอบ    แน่นอนว่าความต้องการของคนเสื้อแดงและกองเชียร์ จะสวนทางกับข้อเสนอของรัฐบาลและแฟนๆของรัฐบาล

แล้วเสียงส่วนใหญ่ของเจ้าของประเทศ (มีมากเสียด้วย) ที่ยังไม่มีโอกาสแสดงความเห็นละครับ ต้องการอะไร

ถามผม ผมตอบว่าคนไทยทุกคนอยากเห็นความสงบ  สันติ  ความสามัคคี  รู้จักให้อภัยซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกัน คนไทยก็ต้องการเห็นกระบวนการยุติธรรมที่พึ่งได้  ใครเป็นผู้ก่อการร้าย   ใครเป็นฆาตรกร  ใครคือตัวการที่คิดล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์    คนเหล่านี้ต้องถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น

คนไทยทุกคนต้องการที่จะช่วยกันสร้างประเทศให้แข็งแกร่ง   ประเทศต้องเดินหน้าต่อให้ได้ ผมว่าคนไทยอยากเห็นการแก้ปัญหาโดยการนำประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง  ไม่ใช่ประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง  หรือของนักการเมือง  ของพรรคการเมือง  ประเทศไทยต้องมาก่อน

ยุบหรือไม่ยุบ  ลาออก   ปราบคนเสื้อแดง  คนเสื้อแดงเพิ่มความรุนแรง    เหล่านี้ไม่ตอบโจทย์ที่คนส่วนใหญ่ของประเทศต้องการหรอกครับ

ก่อนจะช่วยกันมองหาทางออก  ย้อนกลับไปดูเหตุการณ์กว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมากันครับ  จะเล่าให้ฟังว่า งานที่ผมเข้าไปเกี่ยวข้องทำให้ผมได้รับรู้อะไรเพิ่มเติมบ้าง

งานของผมเริ่มจากการรับภาระเป็นหัวหน้าคณะทำงานประสานงานของรัฐบาล ความรับผิดชอบคือลดความร้อนแรงระหว่างคนเสื้อแดงกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐฯ  เปิดช่องสื่อสารระหว่างรัฐบาลและตัวแทนคนเสื้อแดง   เป็นครั้งแรกที่ผมมีโอกาสได้รู้จักและพูดคุยกับเจ้าของสมญานาม  “เหวง”

ตอนนั้นการชุมนุมยังถือได้ว่าอยู่ในกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนด  มีล้ำเส้นอยู่บ้างตามช่วงเวลาที่อารมณ์พาไป  แต่ก็ไม่มีอะไรรุนแรงเกินกว่าที่จะรับไม่ได้  การประสานงานได้ผลพอควร

ผมหยุดการประสานงานช่วงที่มีการเทเลือดครับ  เพราะเริ่มมองเห็นอาการของคนเสื้อแดงว่าแนวโน้มน่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ  เมื่อยกระดับมาถึงขั้นนี้แล้ว  ประสานไปก็ไร้ค่า

ไม่นานเกินรอ การประสานงานได้พัฒนาขึ้นเป็นการเจรจา   ตามที่ได้เห็นกันหน้าจอทีวีนั่นละครับ  มีการพูดคุยกันสองรอบ

เริ่มพูดคุยกันเมื่อคนเสื้อแดงได้มาชุมนุมอยู่ทีหน้าราบ ๑๑ ประมาณ ๕,๐๐๐ คน  อีก ๓๐,๐๐๐ คนจากผ่านฟ้าพร้อมเคลื่อนมาสมทบ วันนั้นผมได้คุยกับคุณณัฐวุฒิ ฝ่ายเสื้อแดงยอมถอนกำลังทั้งหมดกลับที่ตั้งคือที่ผ่านฟ้าเพื่อแลกกับการเจรจา กำหนดการเจรจา ๔ โมงเย็นในวันเดียวกัน    คุ้มค่าสำหรับผมที่เกิดการเจรจา  เพราะถ้าปล่อยให้คนเสื้อแดงจำนวนมากเดินทางมาชุมนุมที่หน้าค่ายทหาร    และอาจปีนรั้วข้ามเข้ามาในค่าย แค่นึกภาพก็หวาดเสียวแล้วครับ

วันนั้นทำให้ผมทราบว่าคุณณัฐวุฒิเป็นคนคุมกำลังของคนเสื้อแดง

ครั้งที่สองเป็นเหตุการณ์ของคืนวันที่ ๑๐  คนแรกที่ผมคุยด้วยคือคุณจาตุรณและมีการโยนไม้ต่อไปให้คุณณัฐวุฒิ   จบลงที่คุณณัฐวุฒิขึ้นแถลงบนเวทีและท่านนายกพูดผ่านโทรทัศน์  หยุดเหตุการณ์ลงได้ก่อนจะเสียหายมากขึ้นไปอีก

สำหรับเหตุการณ์ที่สีลมไม่ได้มีการเจรจา เพราะเกิดขึ้นจากการโจมตีของกองกำลังที่ไม่ทราบฝ่าย (ฝ่ายเสื้อแดงปฏิเสธมาตลอดว่าไม่เกี่ยวข้องกับตน)   ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่สามารถเข้าตรวจสอบพื้นที่ได้เพราะฝ่ายเสื้อแดงมีการตั้งด่านและใช้มวลชนมาเป็นกันชน

ผมได้พยายามเจรจาให้มีการรื้อด่านเพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เข้าไปตรวจสอบบริเวณที่เชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่ใช้ในการยิง M79 แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคนเสื้อแดงปรับกลยุทธ์การชุมนุม  มีการแสดงออกว่าพร้อมเจรจาอีกครั้ง  ขณะเดียวกันก็เริ่มสร้างสถานการณ์ว่าจะมีการสลายการชุมนุม  ยกระดับการชุมนุมในต่างจังหวัด  และมีการเปลี่ยนเสื้อสีแดงเป็นคนเสื้อไม่มีสี   พร้อมโจมตีรัฐบาลว่าเตรียมเข่นฆ่าประชาชน

ท่านนายกรัฐมนตรีเห็นว่าคนเสื้อแดงไม่เคยมีความจริงใจในการเจรจา  จึงได้สั่งให้ผมหยุดภารกิจนี้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา   สัปดาห์ที่แล้วคุณวีระได้ขึ้นเวที  เปลี่ยนข้อเสนอ ขยับเวลาจากการยุบสภาทันทีเป็นยุบสภาภายใน ๓๐ วัน  คุณวีระยังได้กล่าวในที่ประชุมด้วยว่า   ได้พูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลแล้ว  และกำลังรอคำตอบ

ผมเกรงว่าจะมีการเข้าใจผิด   จึงอาศัยช่องทางทางทวีตเตอร์  เล่าให้เพื่อนๆทราบว่า  ไม่ใช่ผมนะที่ไปเจรจา

ถึงทางตันหรือยัง

มุมมองของผมเป็นอย่างนี้ครับ

ทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็นเสื้อแดงหรือรัฐบาลถูกแรงกดดันจากทุกด้านที่ต้องให้การชุมนุมครั้งนี้จบเร็ว

ฝ่ายเสื้อแดงก็อยากจบเร็ว เพราะตั้งเป้าหมายไว้ว่า เมื่อมีประชาชนเสียชีวิตแล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่สมหวังอย่างที่คิด จึงมีคำถามว่าจะต้องตายอีกกี่ศพการเมืองถึงจะเปลี่ยน ผู้นำเริ่มกังวลว่าท้ายที่สุดจะต้องถูกกล่าวหาว่าพาคนมาตาย อนาคตจะเป็นอย่างไร

รัฐบาลภายใต้การนำของนายกอภิสิทธิ์ดูเหมือนว่าจะถูกกดดันมากขึ้นทุกวันเช่นกัน ยังจับผู้ก่อการร้ายและกองกำลังไม่ทราบฝ่ายไม่ได้ ผู้ทีถูกหมายจับเกือบทั้งหมดยังลอยนวล ลอยหน้าลอยตาออกทีวี พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างสบายๆ อย่างไรก็ตาม ประชาชนเป็นจำนวนไม่น้อยยังให้กำลังใจนายกอภิสิทธิ์ เพราะเข้าใจถึงความยากของปัญหา แต่ความอดทนของประชาชนย่อมมีขีดจำกัดเช่นกัน

มองปัญหาอย่างนี้แล้วเห็นชัดว่า   ทางออกของทั้งสองฝ่ายคือการเจรจา  คำถามต่อว่าจะเจรจาตกลงเรื่องอะไร   ยุบหรือไม่ยุบ   ถ้ายุบ   ยุบเมื่อไหร่  ถ้าไม่ยุบ นายกจะลาออก   หานายกใหม่หรือตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

มีซักกี่คนที่เชื่อว่าถ้ารัฐบาลมีคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้แล้ว  ทุกอย่างจะจบลง  ถามผม  ตอบโดยไม่ต้องคิดว่า   ไม่มีวันจบครับ   เพราะนั่นเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า  ไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหาที่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศในระยะยาว

ศึกษาปัญหาที่สร้างความแตกแยกก่อน   แต่ต้องทำใจให้เป็นกลางและวิเคราะห์ให้ลึกถึงที่มาของปัญหา

เริ่มได้อย่างนี้ครับ

รัฐบาลทักษิณสมัยที่ ๒ ได้เสียงสส.ในสภาท่วมท้น  รัฐบาลกร่าง  ใช้เสียงที่มีมากทำตามอำเภอใจ ลามไปถึงปัญหาการขายหุ้นของครอบครัวพ.ต.ท.ทักษิณ  มีการซุกหุ้นเพื่อไม่ต้องเสียภาษี ไปไกลถึงมีการกล่าวหาว่าจาบจ้วงสถาบันเสียด้วยซ้ำ  เท็จจริงอย่างไรท่านผู้อ่านต้องพิจารณาเอง

เกิดการปฏิวัติเพื่อแก้ปัญหาที่เป็นผลพวงจากการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ  การปฏิวัติเพื่อแก้ปัญหาทำได้สำเร็จบ้าง  แต่ก็สร้างปัญหาในบางเรื่องจนบานปลาย

คดียุบพรรคหลายพรรคในภายหลังทำให้นักการเมืองกว่า ๒๐๐ ท่านถูกผลักออกจากงานการเมือง

ความแตกแยกสะสมเป็นแผลลึก ทำให้ได้รัฐบาลสมัคร  รัฐบาลสมชายที่อยู่ได้ไม่นาน  และยังมีเหตุการณ์นองเลือดเกิดขึ้นอีก

วันนี้ได้รัฐบาลอภิสิทธิ์ซึ่งมีคนส่วนหนึ่งเห็นว่าเป็นรัฐบาลที่เกิดจากการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองแบบไม่ปกติ ประชาชนส่วนหนึ่งจึงไม่ยอมรับ  (ขอให้ยุบสภา  เลือกตั้งกันใหม่)

ที่เห็นๆก็มีอยู่ประมาณนี้ละครับ

ปัญหาถ้ามองแบบผิวเผินอาจคิดว่าเป็นเรื่องของคนๆเดียวคือพ.ต.ท.ทักษิณ  และเป็นการต่อสู้ของพ.ต.ท.ทักษิณ  โดยการปลุกระดมให้ข้อมูลผิดๆกับพี่น้องประชาชน

แต่ถ้ามองลึกๆแล้วจะเห็นชัดว่านอกจากเป็นเรื่องของพ.ต.ท.ทักษิณแล้ว ยังมีนักการเมืองกว่า ๒๐๐ คนที่ถูกตัดสิทธิ์จากงานการเมือง    กว่าครึ่งเป็นผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกมาจากระบบเขตเลือกตั้ง  มีผู้สนับสนุนเขตละอย่างต่ำก็ ๕๐,๐๐๐ คน บางเขตเป็นแสนก็มี  ถ้านับท่านสส.เพียง ๑๐๐ ท่าน   รวมคนที่เป็นแฟนสนับสนุนอดีตสส.เหล่านี้ก็ ๕ ล้านคนเป็นอย่างน้อย

เป็นประชาชนจำนวนมากหลายล้านคนที่มีความเชื่อว่านักการเมืองที่เขาชื่นชอบถูกรังแก อารมณ์นี้ยังมีอยู่   ท่านผู้อ่านสังเกตให้ดีจะเห็นว่า  ญาติพี่น้อง  ลูกหลานของอดีตสส.เหล่านี้  ลงสมัครรับเลือกตั้งแล้วจะได้รับเลือกเป็นส่วนมาก   ขนาดบางคนไม่เคยทำงานทางการเมืองเลยแม้แต่น้อยก็ยังได้รับเลือก   ชาวบ้านเขาสงสารครับ

การปลุกระดมของแกนนำคนเสื้อแดงจึงทำได้ไม่ยากนัก เพราะพี่น้องประชาชนส่วนหนึ่งมีเชื้อความโกรธ   ความรู้สึกว่าคนของเขาถูกรังแกอยู่ในใจ  ความรู้สึกสองมาตรฐาน   ไม่ใช่เฉพาะพี่น้องคนชนบทเท่านั้น  คนกรุงเทพก็มีจำนวนไม่น้อย  เมื่อได้น้ำเลี้ยงอย่างดีผสมเข้าไป  จุดปุ๊บก็ติดปั๊บ

ผมเสนอแนวทางแก้ปัญหาอย่างนี้ครับ ๑. แยกเรื่องของพ.ต.ท.ทักษิณออกจากสมการ ไม่ให้เรื่องของสส.ผูกไว้กับเรื่องของอดีตนายก ๒.คนที่ทำความผิดทางคดีอาญาจากการชุมนุมที่ผ่านมาต้องเข้าสู่ขบวนการตามกฎหมาย ๓. ทุกส่วนของสังคมประณามขบวนการล้มเจ้า  ช่วยกันไล่ล่าเว็บเถื่อนที่ให้ร้ายสถาบัน  จับคนที่ทำผิดกฎหมายมาลงโทษอย่างจริงจัง ๔.สร้างกลไกเพื่อให้เกิดกระบวนการสมานฉันท์ที่ทุกฝ่ายพอรับได้อย่างไม่ชักช้า โดยใช้อำนาจการบริหาร  เมื่อทำได้ครบแล้วทุกคนเดินเข้าสนามเลือกตั้ง

ตกลงจะยุบสภาเมื่อไหร่

เมื่อเราพร้อมที่จะให้มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม  และยอมรับได้จากคนส่วนใหญ่ของประเทศ   กระบวนการสมานฉันท์คงทำได้เสร็จก่อนสิ้นปี  เลือกตั้งปลายปีน่าจะเหมาะสม  แต่อาจทำได้เร็วกว่าที่คิดก็เป็นได้

ถ้าคิดทำงานเพื่อประเทศ   ถ้าพร้อมใจกันปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เราทุกคนหวงแหน ถ้าคำนึงเสมอว่าประเทศไทยต้องมาก่อน   ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากใช่ไหมครับ

ทั้งหมดที่กล่าวเป็นความเห็นส่วนตัวของประชาชนคนไทยคนหนึ่ง      ท่านผู้อ่านแสดงความเห็นกันหน่อยเป็นไร

แบ่งปันเรื่องราว:
  • Print
  • del.icio.us
  • Facebook
  • email
  • PDF
  • Twitter

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

Twitter

TwitPic

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
Korbsak.com
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ค้นหา