ภาษีขายหุ้น ตอนที่ 1

Thu, Mar 16, 2006

English | ทักษิณ

ภาษีขายหุ้น  ตอนที่ 1

บทความวันที่ :16 มีนาคม 2549

สรุปแล้ว คุณทักษิณ คุณหญิงพจมานและครอบครัว เสียภาษีจากการขายหุ้นที่มีมูลค่าสูงถึง 77,300 ล้านบาท ครบถ้วนแล้วหรือไม่ ?

ฟังจากปากหัวหน้าครอบครัว คือคุณทักษิณ เข้าใจได้ว่า ไม่เสียภาษีแม้แต่บาทเดียว!

แล้วจริงๆ ควรเป็นอย่างไร?

ท่านผู้อ่านครับ ผมเคยได้ยิน พวกฝรั่งชอบพูดอยู่เสมอ ๆ ว่า ในชีวิตนี้ ที่หนีไม่พ้นคือ “Death and Tax” แปลว่า “ความตายและภาษี” ไม่มี ใครชอบเสียภาษีหรอกครับ ทะเลาะกับกรมสรรพากรเป็นเรื่องปกติ ใครชนะสรรพากรได้ถือว่าสุดยอด พวกที่แพ้ไม่ต้องบอกก็รู้คนหาเช้ากินค่ำ เอส เอ็ม อี ทั้งหลายแหละครับ

เหตุเพราะกฎหมายภาษี เขียนไว้เพื่อเอื้อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี ไม่อยากโทษเจ้าหน้าที่ แต่ระบบภาษีบ้านเราเปิดช่องไว้มากครับ

การขายหุ้นชินของตระกูลชินวัตร และดามาพงศ์ ไม่เกี่ยวกับคุณทักษิณและคุณหญิงพจมาน
คุณทักษิณและคุณพจมานไม่ต้องเสียภาษีถูกต้องแล้ว แต่ทั้งสองท่านอาจจะต้องเสียภาษีในอนาคต ช่วง ที่ขอเงินคุณลูกใช้แต่ก็ไม่แน่ กรมสรรพากรอาจตีความว่าเงินที่ลูก ๆ มอบให้เป็นหมื่นๆล้าน ถือเป็นมรดกจากลูก หรือไม่ก็เป็นเงินอุปการะ คุณพ่อ คุณแม่ ก็อาจเป็นได้

สำหรับคุณลูก ๆ และครอบครัวดามาพงศ์ รวมทั้งบริษัท Ample Rich บอกได้ในวันนี้เลยว่า
“ต้องเสียภาษี แน่นอนครับ” เพียงแต่ว่าจะเสียกันเมื่อไหร่เท่านั้น

วันนี้ผมขอเล่าให้ฟังเฉพาะของ Ample Rich ก่อนนะครับ

Ample Rich เป็นบริษัทฝรั่งหัวดำข้ามชาติ แต่ทำธุรกิจในประเทศไทย คือ ลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทชินที่เรียกว่าฝรั่งหัวดำเพราะว่าเจ้าของบริษัทคือ คุณทักษิณ ต่อมาคุณทักษิณยกบริษัทให้ลูกชายคือคุณพานทองแท้ ทั้งสองพ่อลูกเป็นคนไทย แต่เป็นเจ้าของบริษัทฝรั่ง เรียกให้โก้หน่อยว่า“ฝรั่งหัวดำ” Ample Rich มีรายได้จากเงินปันผล ทุก ๆ ปี รวมถึงรายได้จากการขายหุ้นชิน เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549

ผมไม่แน่ใจว่า Ample Rich ครอบครองหุ้นชินจำนวนเท่าไหร่ รู้แน่ ๆ คือ 229.2 ล้านหุ้น อีก 100 ล้านหุ้นที่ผลุบๆ โผล่ๆ นั้น อยู่ในมือ Ample Rich คู่แฝด หรืออยู่ในมือธนาคารสวิส จริงเท็จอย่างไรยังไม่มีหลักฐานปรากฏ

ถ้าเชื่อคำพูดคุณทักษิณ เชื่อคำชี้แจงของคุณสุวรรณ Ample Richน่าจะถือครองหุ้นทั้งหมด 329.2 ล้านหุ้น

เงินปันผลที่ Ample Rich ได้รับประมาณได้ดังนี้

Picture 1

การจ่ายเงินปันผลโดยปกติผู้จ่ายจะหักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 10 กรณีนี้น่าจะมีการหักภาษีส่งกรมสรรพากรแล้ว เท่ากับ Ample Rich ได้จ่ายภาษีส่วนแรกในรูปแบบของภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กรมสรรพากร ส่วนนี้ไม่น่าจะหนีภาษีได้

ขั้นต่อไป คือ การส่งเงินปันผลออกนอกประเทศ เนื่องจาก กรมสรรพากร ไม่มีสิทธิในการตรวจสอบบัญชีของบริษัทต่างประเทศ ที่ทำธุรกิจในประเทศไทย จึงใช้วิธีหักภาษี ณ ที่จ่าย ร้อยละ 15 เมื่อบริษัทเหล่านั้นต้องการส่งเงินกลับประเทศ ยกเว้นกรณีที่บริษัทพิสูจน์ได้ว่าเงินที่จะส่งออกไม่ใช่รายได้ตามปกติ

กรมสรรพากร ต้องตรวจสอบครับ ตรวจสอบว่าเงินปันผลของ Ample Rich ในแต่ละปีนั้นมีการส่งเงินไปต่างประเทศหรือไม่?

ถ้ามีการส่งเงินออกไป ต้องจ่ายภาษีหรือไม่ อย่างไร?

ถ้าไม่มีการส่งเงินออกไป 1,800 ล้านบาท อยู่ในมือใคร? อยู่ในบัญชีของใคร?

นับเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษี หรือไม่?

ไม่ใช่มีเท่านี้นะครับ!

ยังมีเรื่องการขายหุ้นของ Ample Rich จำนวน 329.3 ล้านหุ้นให้ คุณพานทองแท้ และคุณพิณทองทา ในราคาต้นทุนอีก ตรงนี้ Ample Rich มีปัญหาแน่นอน

เพราะ Ample Rich ขายหุ้นในราคาทุน ทำให้ไม่มีกำไรจะได้ไม่ต้องเสียภาษีกำไรของนิติบุคคล ร้อยละ 30 จากกำไรในการทำธุรกิจ ท่านผู้อ่านที่เป็นนักธุรกิจทราบเรื่องอย่างนี้ดีและเชื่อว่าได้เคย โต้แย้งกับผู้ตรวจสอบบัญชีหรือกรมสรรพากรบ้างเหมือนกัน กรณีขายทรัพย์สินราคาต่ำกว่าจริงกรมสรรพากรจะใช้ราคาตลาดในการกำหนดราคาขาย อย่างแน่นอน ใครที่เคยขายบ้าน ขายที่ดิน โดนมาแล้วทั้งนั้นแหละครับ

การที่ Ample Rich ได้เงินจากการขายหุ้น 329.3 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1 บาท เป็นเงิน 329.3 ล้านบาทจึงผิดปกติ ราคาจริงคือราคาหุ้นละ 47.25 บาท ณ วันที่ขายรวมเป็นเงิน 15,560 ล้านบาทเนื่องจากการซื้อขายครั้งนี้เป็นการสมยอม ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายเพื่อประโยชน์ในการหลบเลี่ยงภาษี ทำให้ Ample Rich ได้รับเงินเพียง 329.3 ล้านบาท และถ้ามีการส่งเงินนี้ไปต่างประเทศ Ample Rich จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 ของ 329.3 ล้านบาทแทนที่จะต้องจ่ายร้อยละ 15 ของ 15,600 ล้านบาท กรมสรรพากรต้องมีคำตอบครับ อย่ากลัวฝรั่งหัวดำมากเกินความจำเป็น

ต้องมีคำตอบว่า

1.Ample Rich ส่งเงินที่ได้รับจากการขายหุ้นทั้งหมดไปต่างประเทศหรือไม่ ถ้าส่ง เสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 หรือไม่? อย่างไร?

2.กรมสรรพากร ยอมให้ Ample Rich ใช้ราคาฮั้ว ที่หุ้นละ 1 บาท หรือประเมินราคาที่แท้จริง คือหุ้นละ 47.25 บาท

ขอเวลาผมซัก 2-3 วัน จะนำเรื่องภาษีของคุณลูก ๆ และญาติ ๆมาเล่าให้ฟังต่อครับ

คลิกเพื่ออ่าน : บทความเรื่องภาษี ตอนที่ 2

แบ่งปันเรื่องราว:
  • Print
  • del.icio.us
  • Facebook
  • email
  • PDF
  • Twitter

Tags: ,

Comments are closed.

Twitter

TwitPic

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
Korbsak.com
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ค้นหา