ปัญหาของชาวบ้าน ของแพง ไม่มีงานทำ

Wed, Oct 31, 2007

English | เศรษฐกิจ

ปัญหาของชาวบ้าน  ของแพง  ไม่มีงานทำ

31 ตุลาคม 2550

อ่านพาดหัวข่าวของสื่อเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม กันดูครับ โพสต์ ทูเดย์ …. ฉลองภพเบรกปชป. เลิก 30% วุ่นแน่ ส่วนของเว็บไซด์ ไทยรัฐ ……. เหน็บ ปชป.ผลีผลามเลิกสำรอง 30 %

แปลความได้ว่า นโยบายเศรษฐกิจของพรรคปชป. ในส่วนที่เกี่ยวกับการยกเลิกมาตรการสุดโหดที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อควบคุมการไหลเข้าของเงินลงทุนจากต่างประเทศนั้น ท่านรัฐมนตรีเตือนว่าต้องระมัดระวัง ท่านไม่เห็นด้วย

ถ้าไม่ใช่ช่วงของการแข่งขันทางการเมือง เรื่องอย่างนี้พรรคการเมืองต้องฟังและนำเหตุผลมาพิจารณา แต่ในขณะนี้เป็นช่วงการหาเสียง ความเห็นของรัฐมนตรีที่มีต่อนโยบายพรรคการเมือง กลายเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องระมัดระวัง ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม

ผมไม่มีทางเลือก ไม่อยากจะทะเลาะกับรัฐมนตรีหรอก แต่ต้องชี้แจงที่มาที่ไปของนโยบาย ไม่อยากให้เกิดความเข้าใจผิด ผมได้ชี้แจงไปอย่างนี้ครับ:

ปัญหาที่รุมเร้าพี่น้องประชาชนในขณะนี้คือปัญหาที่ของกินของใช้แพงขึ้น ทุกวัน แถมด้วยปัญหาการว่างงาน เรียนจบมาก็หางานทำยากเต็มที นโยบายพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้นำเสนอเป็นแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งปัญหาการว่างงานและปัญหาค่าครองชีพของประชาชน

ปัญหาการว่างงาน : ขณะนี้การลงทุนในประเทศและจากต่างประเทศหยุดชะงัก ไม่ใช่เพราะปัญหาทางการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่นักลงทุนไม่มีความเชื่อมั่นในนโยบาย เศรษฐกิจของรัฐบาลโดยเฉพาะนโยบายการควบคุมการไหลเข้าของเงินลงทุนจากต่าง ประเทศ เราไม่เคยเห็นด้วยกับการใช้มาตรการทางการเงินที่รุนแรง เพื่อควบคุมการไหลเข้าของเงิน (มาตรการ 30 %) และถือว่าเป็นการแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็ง ที่คิดไม่ครบ และขาดความรอบคอบ ธปท. ออกประกาศมาตรการเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 และต้องมาแก้ไขประกาศอีกภายในไม่ถึง 24 ชั่วโมง เป็นการทำงานที่ผิดพลาด ทำให้ประเทศไทยสูญเสียความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศอย่างไม่ เคยมีมาก่อน เมื่อไม่มีการลงทุน ก็ไม่มีการจ้างงานใหม่เพิ่ม

พรรคประชาธิปัตย์ต้องการแก้ปัญหา ต้องการเรียกความเชื่อมั่นในการลงทุนให้กลับมาโดยเร็ว การประกาศยกเลิกมาตรการ 30 % เป็นการแสดงจุดยืนของนโยบายที่สนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศอย่าง ชัดเจน เราเชื่อมั่นว่า การรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท ให้อยู่ในระดับที่เอื้อประโยชน์และสนับสนุนผู้ส่งออก ยังสามารถใช้มาตรการอื่นที่เหมาะสมกว่าได้

ความจริงท่านรัฐมนตรีฉลองภพ ขณะที่นั่งเป็นประธานทีดีอาร์ไอ ก่อนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้เคยแสดงความเห็นไว้เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2549 เป็นความเห็นที่ไม่ได้ต่างไปจากของพรรคประชาธิปัตย์ ท่านได้เคยกล่าวไว้ว่าท่านไม่เห็นด้วยกับมาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินของ ธปท. ท่านรัฐมนตรียังได้นำคำกล่าวของ อาจารย์ป๋วยที่ได้เคยสอนไว้ว่า นโยบายการเงินเป็นเครื่องมือที่รุนแรง ดังนั้นหากออกมาตรการที่แรงไป ผลกระทบก็จะรุนแรงตามไปด้วย วันนี้ท่านเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ท่านเปลี่ยนแนวความคิดจากเดิมไปอย่างสิ้นเชิง จะด้วยเหตุผลใด ไม่เคยชี้แจงให้สาธารณชนทราบ

ปัญหาราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น : วันนี้อยากจะขอให้ท่านรัฐมนตรีเอาใจใส่กับปัญหาค่าครองชีพ ถ้าไม่สามารถที่จะเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน อย่างน้อยก็ควรที่จะหาทางช่วยเหลือในการหามาตรการเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย ต้องเร่งดูแลหาทางแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ตัวอย่างง่ายๆเช่น ราคาน้ำมันที่รัฐบาลเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน น้ำมันดีเซลเก็บลิตรละ 1.50 บาท และน้ำมันเบนซินเก็บลิตรละ 3.70 – 4.00 บาทนั้น เพื่อไปใช้หนี้กองทุนน้ำมัน รัฐบาลควรนำมาพิจารณาโดยเร็วว่า จะหยุดเก็บชั่วคราวดีหรือไม่โดยเฉพาะส่วนของน้ำมันนำมันดีเซลและก๊าซโซ ฮอลล์ อย่างน้อยถ้ารัฐบาลจะหยุดเก็บเงินส่วนนี้ชั่วคราวในยามยาก ในยามที่ราคาน้ำมันดิบขยับขึ้นมาสูงเป็นประวัติการณ์ ถ้าทำได้ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก

ปรับลดราคาน้ำมันโดยยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนบางส่วนเป็นการชั่วคราว จะช่วยลดแรงกดดันที่ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้า กำลังจะผลักภาระค่าใช้จ่ายในการประกอบการที่ปรับตัวสูงขึ้น ไปให้ประชาชน ผมเชื่อว่าท่านเหล่านั้นไม่ต้องการให้ประชาชนเดือดร้อน แต่ท่านก็ไม่มีทางเลือก ผมขอให้รัฐบาลคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนก่อนสิ่งอื่นใด หลังเลือกตั้ง ถ้าปชป.ได้รับเสียงสนับสนุนมากพอ จัดตั้งรัฐบาลได้ จะยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันทันทีโดยเฉพาะในส่วนของนำมันดีเซลและ ก๊าซโซฮอลล์

เตือนท่านรัฐมนตรีด้วยว่า ท่านยังต้องระมัดระวังการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของพรรคการเมืองหลังมีพ.ร.ฎ. ประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง เพราะท่านเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มาตรา 57 พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสส. สว. ระบุไว้ว่าห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการใดๆเพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษ แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง

ผมแถลงข่าวไปอย่างนั้นครับเมื่อวันก่อน

วันนี้เริ่มมีความเห็นเข้ามาหลากหลาย ส่วนหนึ่งบอกว่ารัฐบาลไม่ควรแทรกแซงการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย นโยบายที่พรรคประกาศไปนี้ไม่เหมาะสม เป็นการแทรกแซงงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งครับว่านักการเมือง กระทรวงการคลังต้องอยู่ห่างๆ เมื่อเราพูดถึงนโยบายการเงิน ต้องปล่อยให้ธนาคารได้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่ แต่การออกมาตรการเพื่อควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศถือว่าเป็น เรื่องใหญ่ เพราะในอดีตเราเคยปล่อยให้ไหลเข้าได้โดยไม่มีการควบคุมและปล่อยให้นำออกใน ภายหลังได้ตามใจชอบ

มาตรการเข้ามาควบคุมจึงเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าที่ธนาคารจะรับผิดชอบเองได้ ทั้งหมด ใครเป็นรัฐบาลก็ควรจะต้องร่วมรับผิดชอบด้วย จำกันได้ไหมครับ อดีตรัฐมนตรีคลังที่เรารู้จักกันคุ้นหูดีที่ชื่อหม่อมอุ๋ย ท่านก็เป็นคนออกชี้แจงมาตรการดังกล่าวด้วยตนเองในขณะที่เป็นรัฐมนตรีคลัง ด้วยซ้ำ

ส่วนเรื่องของแพงเพราะราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นทุกวันนั้น เป็น เรื่องแปลกที่รัฐบาลไม่เข้ามาแก้ไขปัญหา ทำให้กระทรวงพาณิชย์ต้องยอมให้พ่อค้าปรับเพิ่มราคาสินค้า ข้ออ้างคือน้ำมันราคาสูงขึ้น เเท้ที่จริงราคาน้ำมันของเราเป็นราคาที่ไม่สะท้อนความเป็นจริง แพงกว่าที่ควรเป็นเพราะมีการบวกค่าต๋ง บวกเงินเพิ่มเพื่อส่งเข้ากองทุนน้ำมัน พูดง่ายๆว่ารัฐบาลลดได้แต่ไม่ทำ ผมไม้ได้ขอให้ตรึงราคานะครับ เพียงแต่ขอให้เป็นราคาจริง ไม่มีการบวกค่าต๋งโดยเฉพาะกับดีเซล ที่ถือว่าเป็นน้ำมันเศรษฐกิจ

ข่าวแว่วๆว่าจะลดค่าต๋งลงบ้าง เฉพาะน้ำมันไบโอดีเซลเท่านั้น ก็ยังดีครับ ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

เกิดมาเป็นคนไทยนี่น่าสงสารจริงๆ!!

แบ่งปันเรื่องราว:
  • Print
  • del.icio.us
  • Facebook
  • email
  • PDF
  • Twitter

Tags: , ,

Comments are closed.

Twitter

TwitPic

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
Korbsak.com
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ค้นหา