ยุทธศาสตร์ประเทศ (ตอนที่ ๒)

Sun, Feb 28, 2010

English | เศรษฐกิจ

ยุทธศาสตร์ประเทศ (ตอนที่ ๒)

คุยไว้เมื่อสัปดาห์ก่อนว่าจะพูดถึงเรื่องการลงทุนอย่างมียุทธศาสตร์ ลงทุนให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด   ลงทุนให้มีรายได้กลับเข้าบริษัทประเทศไทยอย่างคุ้มค่า   อย่างยั่งยืน

ผมเชื่อในแนวทางที่ว่าประเทศไทยไม่ใช่บริษัทที่ค้าขายเก่งไปทุกเรื่อง   และได้นำเสนอว่า core business ของบริษัทนี้คือธุรกิจการท่องเที่ยวและการเกษตร การที่จะให้ core business ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนอยู่ที่ความฉลาดในการลงทุน

บริษัทนี้ยังไม่ร่ำรวย  บริษัทประเทศไทยอยู่ระหว่างการขยายกิจการเพื่อทำความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้น บริษัทยังต้องใช้เงินจำนวนมากดูแลความเป็นอยู่ของผู้ถือหุ้น จึงมีเงินเหลือไม่มากนักที่จะนำมาใช้ในการลงทุน  การลงทุนแบบเปะปะจึงไม่ควรทำ  ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้น

ดูเรื่องการท่องเที่ยวเป็นตัวอย่าง นักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการที่หลากหลาย เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตามสมัย  บริษัทประเทศไทยจึงต้องฉลาดพอที่จะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

คงจำกันได้ว่าเมื่อ  ๒๐ ปีก่อน  นักท่องเที่ยวนิยมช๊อปปิ้ง   เมืองท่าเช่นฮ่องกง สิงคโปร์ รับประโยชน์ไปเต็มๆ  เพราะไม่มีกำแพงภาษี   วันนี้โลกเปลี่ยนไป  กำแพงภาษีของประเทศต่างๆเตี้ยลง  ทางเลือกที่จะช๊อปปิ้งของนักท่องเที่ยวมีมากขึ้น  ไม่อยากออกนอกบ้าน ช๊อปปิ้งออนไลนส์ก็ยังทำได้

ถ้ารัฐบาลผลักดันให้เมืองไทยเป็นศูนย์กลางของการช๊อปปิ้งก็ถือได้ว่ารัฐบาลไม่ค่อยจะเอาไหน  ไม่เข้าใจตลาด   เพราะคิดช้าไปเกือบ ๒๐ ปี

สำหรับผมแล้ว ไม่เคยกลัวว่าจะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าไทย  แต่ผมห่วงสมบัติของชาติที่ว่าจะบอบช้ำ  ต้องรองรับนักท่องเที่ยวที่มามากเกินพอดี  เกิน carrying capacity   และทำให้แหล่งท่องเที่ยวเสียหายไปถึงจุดที่เยียวยาไม่ไหว  สายเกินแก้

ผมอยากเน้นการลงทุนเพื่อดูแลสภาพความเป็นเลิศของแหล่งท่องเที่ยวมากกว่า   ผมอยากเห็นงบประมาณลงไปที่การดูแลหาดทราย  ปะการัง  อุทธยาน ฯลฯ มากกว่างบโฆษณาจูงใจนักท่องเที่ยว   ที่หงุดหงิดมากหน่อยคือคำโฆษณาว่าเมืองไทยถูก  น่าเที่ยว (value for the money)  ถ้าบ้านเราขายแต่ของถูก  ถามหน่อยว่าพวกเราในฐานะผู้ถือหุ้นบริษัทนี้ี้ได้อะไรจากการที่ให้มีนักท่องเที่ยว มาเที่ยว (ทำลาย)​ หาดทรายสวยๆของพวกเรา เพราะมาเที่ยวกันมากเกินพอดี ( ที่นี่ราคาถูก)    ผู้ที่ได้ประโยชน์ก็เห็นมีแต่บริษัททัวร์ โรงแรม สายการบิน บวกแรงงานท้องถิ่นเล็กน้อย  เท่านั้น

การลงทุนของภาครัฐอย่างมีเป้าหมายจึงเป็นเรื่องสำคัญ  เริ่มได้จาก  สนามบิน สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ ต้องทันสมัย ห้องน้ำห้องท่าดีเยี่ยม   ออกแบบให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น  เส้นทางคมนาคมไปสู่แหล่งท่องเที่ยว  สาธรณูปโภคที่พร้อมสรรพ  น้ำ  ไฟ ( ไฟฟ้าแรงสูงลงใต้ดินในจุดสำคัญๆเพื่อความสวยงาม สบายตา)  ความสะอาด  การกำจัดขยะอย่างมีมาตรฐาน   รวมถึงระบบอินเตอร์เน็ทความเร็วสูง  เหล่านี้เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวแสวงหา

การลงทุนเพื่อความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว   มีตำรวจท่องเที่ยวที่พึ่งได้  ลงเล่นน้ำทะเล  มองไปทางไหนก็เห็น beach guards คอยเฝ้าระวังให้ความช่วยเหลือ  ในทะเลมีเรือกู้ชีพวิ่งผ่านเป็นครั้งคราว แม้กระทั่งเฮลิคอปเตอร์ก็ควรมี   เหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ ใช้เงินมากแต่คุ้ม   เราต้องการให้บริษัทประเทศไทยเป็นหนึ่งเรื่องการท่องเที่ยวครับ

ถ้าถามว่าทำได้ไหม? ตอบว่ามาถึงวันนี้ ยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขาหรือปีนหน้าผาสูงชัน  เพราะเวลาที่กระทรวงกำหนดนโยบาย  กำหนดงบประมาณการลงทุน  ดูเหมือนว่าเขาจะชอบเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเท่านั้น   นั่งดูกันแต่สถิติ   จำนวนนักท่องเที่ยวมามากไหม  เพิ่มขึ้นเท่าไหร่จากปีก่อน กังวลแต่ว่าตัวเลขจะลดลง ยุทธศาสตร์จึงมีแต่การวางแผนโฆษณา  จัดกิจกรรม  road show ต่างประเทศ ชักชวนให้มาเที่ยว  โฆษณาว่ามีของฟรี (ไม่เก็บค่าวีซ่า)  ของถูก  และมีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆเพิ่มขึ้น  (เพราะของเดิมพังพินาศไปหมดแล้ว)  น่าเบื่อมากครับ

อีกมุมมองในด้านการตลาดที่ควรเริ่มคิด  ธุรกิจท่องเที่ยวไม่ควรไปเดี่ยว เพราะนักท่องเที่ยวมีน้อยรายที่จะไปเพียงจุดเดียว  เราจึงควรจับคู่กับประเทศเพื่อนบ้าน  ผมเชื่อว่าในอนาคต  อินเดียและพม่าจะมาแรง และจะแรงกว่าบ้านเรา เราก็ต้องรู้จักพ่วงไปกับเขา ( piggy ride )   การพัฒนาเส้นทางการบินเฉพาะทางเพื่อเชื่อมพม่ากับกาญจนบุรี  เชื่อมอินเดียตอนเหนือกับเชียงใหม่  หรือ น่านกับหลวงพระบาง  อย่างนี้ควรทำ

ในภาพกว้างรัฐบาลกำลังวางแผนนโยบายเพื่อพัฒนาพื้นที่พิเศษ  ต้องทำเป็นกฎหมายครับ อาจเปรียบพื้นที่ที่ว่านี้เป็น business unit ก็ย่อมได้   ความหมายเป็นอย่างนี้

สมมุติว่าพื้นที่ที่ว่ามีธุรกิจหลักคือการท่องเที่ยว  เราจะเริ่มกันที่การศึกษาเลยครับ กระทรวงศึกษาเน้นหลักสูตรเฉพาะสำหรับ business unit เหล่านี้  เริ่มจากภาษาต่างประเทศ วิชาโรงแรม สิ่งแวดล้อม  สอนลูกหลานกันตั้งแต่เล็กๆ ปลูกฝังให้รักหวงแหนธรรมชาติของบ้านตน สอนอาชีพเฉพาะเพื่อไม่ต้องไปทำงานไกลบ้าน นักลงทุนไม่ต้องใช้แรงงานจากส่วนกลาง  เพราะแรงงานท้องถิ่นได้รับการฝึกปรือมาอย่างดี

ท้องถิ่นคิดจะพัฒนาด้านการท่องเที่ยวก็ต้องหารือหน่วยงานกลาง  ต้องห้ามไม่ให้ลงทุนกันอย่างเปะปะ  สิ่งก่อสร้างต้องมีแบบที่สวยงาม  เป็นไปตามวัฒนธรรมท้องถิ่น  การลงทุนจากส่วนกลางตัองสอดคล้อง  ไฟฟ้าแรงสูงลงใต้ดิน  การกำจัดขยะเป็นไปตามมาตรฐาน สิ่งแวดล้อมมีการดูแลเป็นพิเศษ  เหล่านี้เป็นต้น

กฎหมายที่ว่านี้ไม่ใช่เฉพาะการท่องเที่ยว    การค้าขายชายแดนก็เป็น business unit เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อบริษัทประเทศไทยจะกลายเป็นบริษัทหนึ่งในเครือของบริษัทใหญ่ที่เรียกว่าอาเซียนในอีก 5 ปีหน้านี้  พื้นที่ชายแดนกลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์การค้าขายระหว่างประเทศเพื่อนบ้านครับ

ภาคเกษตรเป็น core business ที่ไม่แพ้ด้านการท่องเที่ยว  ถ้าเราต้องการจะเป็น kitchen of the world  หรือครัวโลก  ความจำเป็นที่ต้องรู้ความต้องการของลูกค้า  รวมถึงความสามารถในการค้าขายของบริษัทฯคู่แข่ง ย่อมเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน

ผู้บริโภคในอนาคตมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าในอดีต บริษัทประเทศไทยต้องพุ่งเป้าไปที่ผู้มีกำลังซื้อ  ลูกค้าของเราต้องการของดี  ของมีคุณภาพ ราคาอาจสูงก็ไม่กังวลมากขอให้ดีจริง คนเหล่านี้เสาะแสวงหาสินค้าที่ดี ที่ปลอดสารพิษและคุณภาพเยี่ยม  สุขภาพเป็นสิ่งที่ลูกค้าของเรากังวลมากที่สุด   ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

ปัญหาผลไม้ราคาตกต่ำจะไม่มีอย่างแน่นอนถ้ารัฐบาลลงทุนอย่างไม่อั้น  ให้ชาวสวนได้ทำสวนอย่างมีระบบและถูกหลักวิชาการ เพื่อให้ได้ผลไม้ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน  จันทบุรีทั้งจังหวัดเป็นสวนผลไม้ให้ชาวจีน  ( Fruit factory of China ) ได้ไม่ยากนัก นอกจากนั้นแล้วงานวิจัยค้นคว้าเพื่อให้ได้มีผลไม้ทีออกผลนอกฤดูกาลเป็นเรื่องที่ต้องพยายามทำให้ได้ผล

พลังงานจากน้ำมันดิบอาจมีเพียงพอในอนาคตแต่ราคาจะปรับตัวสูงอย่างต่อเนื่อง  ปัญหาโลกร้องเป็นอีกตัวแปรที่จะทำให้มีการนำผลผลิตของพืชไร่มาใช้เป็นพลังงาน มีความเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้อาหารจะขาดแคลนเพราะถูกพลังงานแย่งไปหมด   บริษัทประเทศไทยต้องวางแผนการการผลิตสินค้าการเกษตรอย่างเป็นระบบ   รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการเพิ่มผลผลิต  จัดระเบียบการผลิต   ส่วนไหนเพื่อบริโภคในประเทศ  ส่วนไหนเพื่อพลังงาน  ส่วนไหนเพื่อการส่งออก

ขอยกตัวอย่างความยากของการแปลงนโยบายให้เกิดขึ้นได้จริง   นโยบายการลงทุนแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก  เพื่อเพิ่มผลผลิตควรทำในพื้นทีที่มีศักยภาพ ลงทุนแล้วเกิดผลได้จริง  แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องจัดทำงบประมาณ จะมีแรงกดดันให้เน้นในพื้นที่ที่เป็นความต้องการทางการเมืองมากกว่า  ถึงวันนี้เราจึงยังไม่เห็นพื้นที่ที่เรียกว่า super irrigation เกิดขึ้นซักที   เป็นครกอีกใบที่ต้องช่วยกันเข็นขึ้นเขาครับ

นอกเหนือจากการลงทุนที่เป็น core business แล้ว  การลงทุนในภาพรวมของประเทศอย่างมียุทธศาสตร์ในระยะปานกลางก็ต้องทำ  เพราะถ้าลงทุนโดยจัดลำดับความสำคัญให้ชัด  เราจะมองเห็นทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบได้มากขึ้น

ธุรกิจการส่งออกเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับประเทศไทย  ได้พูดไว้เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า  บริษัทประเทศไทยมีบริษัทลูก ๗๖ บริษัท   อาจค้าขายกันเอง  หรือร่วมมือกันค้าขายกับต่างชาติ  มีคำถามว่าจะให้น้ำหนักตรงไหนมากกว่ากัน

ท่านผู้อ่านได้ยินนักวิชาการ  นักวิจารณ์  ถกเถียงกันเสมอ  บ้างว่าเราต้องเน้นธุรกิจส่งออกให้มาก   บ้างก็ว่าเราควรเน้นการบริโภคภายในประเทศให้มากกว่า   เพราะเราจะได้ไม่ต้องพึ่งพาลูกค้าต่างประเทศมากเกินไป

ผมมองต่างมุม  ผมเน้นที่ core business ของบริษัทประเทศไทย  จะเพื่อการส่งออกหรือบริโภคเองผมว่าไม่ใช่เรื่องหลัก  เป็นเรื่องรอง  เราควรเน้นการลงทุนในส่วน core business ให้เป็นอันดับหนึ่งและต้องไม่เป็นรองใคร  ถ้าเราส่งออกข้าวได้เป็นอันดับหนึ่ง  เราก็ต้องรักษาอันดับนี้ไว้ให้ได้  ผลไม้น่าจะเป็นเป้าหมายที่จะขยับต่อ  พืชพลังงาน ( อ้อย  มัน ) เราเก็บไว้ใช้เอง  มีเหลือถึงจะส่งออก

( อุตสาหกรรมหนักอื่นๆ  รถยนตร์  ปิโตรเคมี สิ่งทอ สิ่งพิมพ์ จิวเวอรรี่ ฯลฯ ขอพักไว้คุยด้วยคราวหน้า)

ผมชอบเรื่องการพึ่งตนเอง  แต่ถ้าเราหวังจะให้เศรษฐกิจขยายตัว  เพื่อผู้ถือหุ้นได้มีงานทำ  มีรายได้ดี โดยอาศัยการบริโภคภายในประเทศอย่างเต็มที่  วันนี้ยังทำไม่ได้ครับ ตราบใดที่ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในบริษัทลูกๆ (เกือบทุกจังหวัด นอกจากกทม.) ไม่มีเงินในกระเป๋ามากพอ

ถามว่ามนุษย์เงินเดือนบ้านเรามีรายได้ปรับเพิ่มมากน้อยเพียงใดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว   น้อยมากครับ  เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ได้เลย   เงินเดือนข้าราชการก็ดูไม่จืด  ไม่รู้ว่าผ่อนรถผ่อนบ้านกันได้อย่างไร  คุณครูของพวกเราก็เช่นกัน    มีหนี้มากแบบมองไม่เห็นอนาคต  จะเอาเวลาและกำลังใจทำงานสอนลูกสอนหลานของเราได้อย่างไร

ทางออกน่าจะพอมีครับ   แต่เราต้องมีความพร้อมที่จะเข็นครกขึ้นภูเขาที่ละหลายใบทีเดียว

ขอผลัดไว้คุยต่อสัปดาห์หน้าครับ

แบ่งปันเรื่องราว:
  • Print
  • del.icio.us
  • Facebook
  • email
  • PDF
  • Twitter

Tags:

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

Twitter

TwitPic

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
Korbsak.com
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ค้นหา