ยุทธศาสตร์ทางออก – ยุทธศาสตร์ประเทศ (ตอนที่ ๑)

Sun, Feb 21, 2010

English | เศรษฐกิจ

ยุทธศาสตร์ทางออก – ยุทธศาสตร์ประเทศ (ตอนที่ ๑)

สัปดาห์ที่แล้วพูดถึงยุทธศาสตร์ทางออก ( Exit Strategy ) ผมเสนอหลักคิดไว้ว่าอย่าออกเร็วไป ( ปรับลดการลงทุนที่เตรียมไว้กระตุ้นเศรษฐกิจ ) เดี๋ยวซวยเพราะวิกฤติอาจกลับมาอีก หรืออย่าออกช้าเกินไป ( กู้เงินเพื่อกระตุ้นในขณะที่ไม่จำเป็น ) จะทำให้เป็นหนี้ล้นตัวตามด้วยปัญหาเงินเฟ้อ

ระยะเวลา (timing) ที่จะเริ่มนโยบายทางออก (Exit Strategy) จึงเป็นการวัดความสามารถของรัฐบาลอย่างแท้จริง

ผ่านมาหนึ่งสัปดาห์ตัวเลขเศรษฐกิจยังไม่เปลี่ยนแปลง สหรัฐฯประเทศเจ้าปัญหาได้ขยับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างไม่มีใครคาดหมาย ส่งสัญญาณให้ชาวโลกรู้ว่าฉันกำลังเดินไปถูกทิศทางแล้ว ประเทศเรายังมีปัญหาการเมืองที่บั่นทอนการดำเนินชีวิตปกติของคนไทยเป็นส่วนใหญ่ แต่ทุกอย่างต้องมีวันสุดท้าย ซึ่งใกล้เข้ามาทุกที ผลออกมาอย่างไร แบบไหน ทุกคนควรทำใจ รับให้ได้ในทุกกรณี

วันนี้จะคุยเรื่องของทิศทางการพัฒนาประเทศ เราจะเดินหน้าต่ออย่างไรดี เพราะไม่ว่าการเมืองจะไปในทางไหนก็แล้วแต่ ประเทศไทยยังคงอยู่และต้องเดินหน้าต่อ จริงไหมครับ

๑๐ ปีที่ผ่านมาโลกเปลี่ยนไปมาก มาจากการที่โลกแคบลงหรือที่ คุณ Friedman นักเขียนชื่อดังเรียกว่าโลกแบน ( The World is flat ….Thomas Friedman ) การดำรงชีวิตของมนุษย์โลก การพัฒนาของประเทศเปลี่ยนไป ประเทศจีนกลายเป็นโรงงานผู้ผลิตของโลก (​ Factory of the world ) ประเทศอินเดียกลายเป็นสำนักงานของโลก ( Back office of the world ) ส่วนหนึ่งคนจีนและคนอินเดียรวมกัน (กว่า ,๕๐๐ ล้านคน) มั่งคั่งขึ้น ระบบอินเตอร์เน็ท บรอดแบนด์ การเชื่อมต่อ Connectivity เปลี่ยนวิถีชีวิตของมนุษย์บนโลกใบนี้อย่างสิ้นเชิง

แล้วคนไทยจะยืนอยู่ได้อย่างไร ในโลกที่กำลังหมุนไปด้วยความเร็วสูงเกือบถึง ๑๐๐ เม็กอยู่แล้ว

เป้าหมายสูงสุดที่ไม่น่าจะมีคนโต้แย้งคือ ต้องพัฒนาประเทศให้คนไทยได้มีความสุขอย่างทัดเทียมกัน คงไม่ต้องพูดถึงว่าแบบไหน อย่างไร ที่เรียกว่าความสุข เดี๋ยวเถียงกันไม่จบ

เคยได้เขียนบทความไว้เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๑ ใช้หัวข้อว่า  “ บริษัทประเทศไทย ” เขียนไว้ตอนที่นั่งดูการทำงานของรัฐบาลคุณสมัคร   วันนี้จะเปรียบเทียบบริษัทประเทศไทยในอีกมุมมองหนึ่ง   อาจถือว่าเป็นมุมมองของคนเป็นรัฐบาลก็ได้

บริษัทประเทศไทยนี้มีผู้ถือหุ้นกว่า ๖๓ ล้านคน และมีผู้ที่อยู่ในสถานะเป็นกำลังสำคัญให้กับบริษัทนี้ได้ ๔๐ ล้านเศษ คำถามคือต้องทำอย่างไรเพื่อให้บริษัทประเทศไทยเติบโต มีรายได้เข้าบริษัทเพียงพอ เพื่อสามารถนำรายได้มาแบ่งปันให้ผู้ถือหุ้น ๖๓ กว่าล้านคนได้รับประโยชน์ อยู่ได้อย่างดีและมีสุข ทัดเทียมกัน

ผมมีข้อเสนอครับ

จะเริ่มที่ยุทธศาสตร์การหารายได้ของบริษัทประเทศไทยก่อน ต่อไปคงจะได้พูดถึงการนำรายได้มาแบ่งปันให้ผู้ถือหุ้นในรูปแบบไหน อย่างไร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและทัดเทียมกัน

บริษัทประเทศไทยไม่ใช่บริษัทเล็กๆนะครับ เรียกเป็นบริษัทแม่ก็แล้วกัน บริษัทแม่นี้ย่อยออกเป็น ๗๖ บริษัทลูก (​จังหวัด) ครับ รายได้ของบริษัทแม่เกิดจากรายได้ของบริษัทลูกๆเหล่านี้รวมกัน

รายได้ที่ว่านี้แบ่งออกได้เป็นสองส่วน ส่วนแรกคือ ๗๖ บริษัทลูกหารายได้จากการค้าขายระหว่างลูกๆกันเอง รายได้ส่วนที่สองคือบริษัทแม่ค้าขายกับบริษัทต่างประเทศทั่วโลก

ส่วนแรกที่พูดถึงคือการพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศ และส่วนที่สองคือเรื่องรายได้จากการส่งออกถึงวันนี้ผู้รู้ทั้งหลายยังเถียงกันไม่จบว่าจะเน้นส่วนไหนมากกว่ากัน ผมมีจุดยืนในเรื่องนี้ชัดเจนแต่ขอพักไว้ ยังขอไม่พูดถึงตอนนี้

ท่านผู้อ่านทีพอรู้เรื่องธุรกิจมองออกทันทีว่า บริษัทประเทศไทยต้องมีนโยบายการตลาดที่ดีถึงจะสามารถหารายได้เข้าประเทศได้อย่างสม่ำเสมอ และยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง ในยุคของโลกแบน โลกของความเร็วสูง การหาตลาด หาผู้ซื้อ คงต้องดูว่าคนเหล่านี้ ประเทศคู่ค้าทั้งหลาย เขาอยู่กันอย่างไรในโลก ๑๐๐ เม็ก

โลกแบนทำให้ประสิทธิภาพในการทำมาหากินดีขึ้น ประหยัดเวลาและถูกลง เช่น ทำงานที่ไหนก็ได้ถ้ามี broadband ซื้อของ ขายของไม่ต้องมีหน้าร้าน ผ่านระบบออนไลนส์ได้หมด ถ้าท่านเกาะโลกของดิจิตอลได้เหนียวแน่น ท่านสามารถที่จะมีเวลาเหลือจากการทำงาน ได้ใช้เวลาเพื่ออยู่ในโลกส่วนตัวของท่านได้มากขึ้น

การตลาดของผมคือการเล็งเป้าไปที่ประเทศที่มั่งคั่ง อนาคตสดใส คนในประเทศเหล่านี้ ในยุคนี้ มีเวลามากขึ้นครับ คนพอมีเงิน มีเวลา ทำอะไรครับ ท่องเที่ยวครับ ตลาดท่องเที่ยวของโลกใบนี้จึงมีแต่จะโตวันโตคืน สังเกตไหมครับว่า ทุกประเทศทุ่มเทในเรื่องการท่องเที่ยวและแข่งขันกันมากแค่ไหน

ปัญหาโลกร้อน ปัญหาภัยพิบัติจากโลกร้อน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาความต้องการพลังงานในการขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนและอินเดีย ปัญหาจากการที่คนจีนหลายร้อยล้านคนเริ่มบริโภคเนื้อสัตว์ ผลไม้มากขึ้น ทั้งหมดกระทบกับผลผลิตทางการเกษตรทั้งสิ้น

ราคาน้ำมันดิบแพง ทดแทนได้ด้วยพืชพลังงาน ทำให้สินค้าเกษตรมีความต้องการมากขึ้น

ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ตามด้วยความต้องการใช้อาหารสัตว์ไล่ไปจนถึงพืชไร่ที่นำมาใช้ผลิตอาหารสัตว์ เห็นอนาคตของการเกษตรหรือยังครับ

ชัดเจนครับ การท่องเที่ยวและการเกษตร คือธุรกิจที่มีอนาคตที่สดใส

ประเทศไทยถือว่าอยู่ในสถานะที่ดีที่สุดเพราะทั้งสองธุรกิจที่กล่าวถึง ประเทศไทยไม่เป็นที่สองรองจากใครครับ

แนวความคิดที่ต้องตกผลึกให้ได้อย่างจริงจังเสียทีคือ ต้องยอมรับก่อนว่าคนเราไม่ได้เก่งไปเสียทุกอย่าง เป็นบริษัทเล็กแต่มีศักยภาพสูง  อาจจะมีสินค้าในตลาดน้อยประเภท  แต่คุณภาพดีเยี่ยม ย่อมดีกว่าเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่ทำได้ทุกอย่าง แต่ทำไม่ได้ดีซักเรื่องเดียว

ผมกำลังพูดถึง core business ของบริษัทประเทศไทยครับ

ฟันธงได้เลยว่า core business ของบริษัทนี้คือ ธุรกิจท่องเที่ยว และ ธุรกิจด้านการเกษตร นอกนั้นถือเป็นของแถม

และข้อดีของทั้งสองธุรกิจคือ บริษัทลูก ๗๖ จังหวัดส่วนใหญ่เก่งไม่ว่าท่องเที่ยวหรือการเกษตร หรือทั้งสองอย่างเลยที่เดียว บริษัทลูกบางแห่งเช่นเชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นสุดยอดของการท่องเที่ยว หรือ จันทบุรีในเรื่องของผลไม้ ( จันทบุรี…Fruit factory of China! )

ถ้าตกลงได้อย่างนี้ก็สามารถเดินต่อได้ในเรื่องของยุทธศาสตร์

ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวต้องชัดเจน นโยบายหลักต้องไม่ใช่ใช้งบประมาณทุ่มเงินโฆษณาให้นักท่องเที่ยวเข้ามา โดยไม่มีเงินเหลือที่จะทำนุบำรุงแหล่งท่องเที่ยวไม่ให้เสื่อมโทรม และต้องเข้าใจ trend ของการท่องเที่ยวว่าอนาคตไปในทิศทางไหน ระบบอินเตอร์เน็ทเข้าถึงได้หมดจากจองตั๋วเครื่องบิน ห้องพัก สถานที่เที่ยว สอบถามเพื่อนนักท่องเที่ยวในโลกของอินเตอร์เน็ทได้หมดว่า ที่ไหนดีไม่ดีอย่างไร ปากต่อปากกลายเป็นหัวใจสำคัญในการสื่อสารของนักท่องเที่ยวไม่ต้องรอให้เพื่อนเดินทางกลับมาเล่าให้ฟังกันอีกแล้วครับ

ปัญหาของเราคือความคิดที่ล้าหลังเช่นใช้เงินมากมายปีละกว่า ,๐๐๐ ล้านบาทเพื่อเปิดสำนักงานการท่องเที่ยวในต่างประเทศทั่วโลก หรือใช้เงินเพื่อจัดกิจกรรม บางครั้งจ้างที่ปรึกษาราคาแพงๆโดยอ้างสารพัดเหตุผล ท้ายที่สุดกลายเป็นเรื่องของผลประโยชน์  ทำความอับอายขายหน้าไปทั่วโลก  เช่นคดีทุจริตข้ามชาติของอดีตผู้บริหารการท่องเที่ยว น่าเศร้าจริงๆครับ

การเกษตรเป็นจุดสุดแข็งของประเทศ ที่ผ่านมาบริหารแบบที่เรียกว่า lip service ปากหวานแต่เกษตรกรจนลงทุกวัน ผู้ถือหุ้นที่เป็นเกษตรกรมี ๑๐ ล้านครัวเรือน บวกลบ ไม่เคยมีใครเหลียวแล ต้องขอคุยว่ารัฐบาลนี้ทำโครงการประกันรายได้ให้ ล้านครัวเรือนเป็นครั้งแรก ช่วยได้ครึ่งหนึ่งแล้ว ถือว่าเป็นการแบ่งรายได้ของรัฐไปให้เกษตรกรอย่างเป็นธรรม (ขอเก็บไว้ขยายความเมื่อคุยถึงการแบ่งปันรายได้ให้ผู้ถือหุ้น)

นำ้มันแพง พลังงานทดแทนกลายเป็นสิ่งที่ต้องทำ การเพิ่มผลผลิตพืชไร่เพื่อใช้เป็นพืชพลังงานต้องเดินหน้าอย่างจริงจังเสียทีไม่ว่าจะเป็น อ้อย มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม ฯลฯ

บริษัทประเทศไทยจะเดินหน้า core business ทั้งสองตัวคือการท่องเที่ยว และ การเกษตร บริษัทนี้ก็ต้องลงทุนครับ ถ้าการเกษตรก็ต้องเป็นเรื่องของการลงทุนในแหล่งน้ำ การวิจัย ลงทุนด้านการท่องเที่ยวอาจครอบคลุมหลายส่วน การศึกษา วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คมนาคม

สำหรับธุรกิจอื่นๆของบริษัทนี้ไม่ใช่ว่าจะไม่มีอนาคต แต่รัฐบาลต้องจัดลำดับความสำคัญให้ดี วันนี้เรามีสินค้าสองตัวที่ดีแน่ สินค้าตัวที่สาม ตัวที่สี่คืออะไร ตลาดมั่นคงแค่ไหน บริษัทประเทศไทยต้องระมัดระวัง เพราะไม่ว่าจะเป็นสินค้าตัวไหน เราต้องนำรายได้มาลงทุน เงินรายได้มีไม่มาก  ส่วนหนึ่งก็ต้องช่วยผู้ถือหุ้นที่ด้อยโอกาศ  การลงทุนจึงต้องให้สอดคล้องกับ core business ของตน ถึงจะได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ

ถ้าใครถามผมว่า Exit Strategy ขั้นต่อไปคืออะไร นี่ละครับคำตอบ ลงทุนหนักให้เต็มที่ใน core business ของบริษัทประเทศไทย

สัปดาห์หน้าคุยต่อถึงสินค้าตัวที่สาม  ตัวที่สี่ และการลงทุนอย่างมียุทธศาสตร์ครับ

แบ่งปันเรื่องราว:
  • Print
  • del.icio.us
  • Facebook
  • email
  • PDF
  • Twitter

Tags:

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

Twitter

TwitPic

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
Korbsak.com
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ค้นหา