บริษัทประเทศไทย

บริษัทประเทศไทย

16 มิถุนายน 2551

ได้อ่านคอลัมน์ “ สกู๊ปหน้า ๑ ” ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเมื่อวันที่ ๙ มิ.ย. พูดถึงนโยบายแก๊ส
โซฮอล์ E85 ของรัฐบาล โดยแสดงความกังวลถึงวิธีการกำหนดราคาเอทานอลและกล่าวว่า “ ราคา
เอทานอลที่คนไทยผลิตได้เองปลูกได้เอง แต่ราคาซื้อขาย ประเทศไทยอ้างราคาอิงบราซิล ”

ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า เรื่องการกำหนดราคาเป็นปัญหาใหญ่ ไม่เพียงแต่ราคาเอทานอลเท่านั้น เรายังมีข้าว ก๊าซธรรมชาติ แอลพีจี ( ก๊าซหุงต้ม ) ผลผลิตเหล่านี้เราผลิตได้เอง แต่ราคาในตลาดโลกสูงมาก
จึงเป็นคำถามว่า เราจะกำหนดราคาในประเทศอย่างไรดี เพื่อให้คนไทยเจ้าของประเทศได้รับประโยชน์
สูงสุด

ผมว่าถ้าเรานำรูปแบบของธุรกิจขนาดใหญ่มาเปรียบเทียบ อาจจะเห็นภาพได้ชัดขึ้น

พวกเรากันเองก็เคยได้ยินบ่อยครั้งในวงสนทนาที่ชอบมีการเปรียบเทียบว่าบริหารประเทศให้ดี
ต้องบริหารแบบภาคเอกชน ให้เปรียบประเทศเป็นบริษัท พูดกันมากจนทำให้เกิดความ “ อยาก ” ที่จะ
หานักธุรกิจมาเป็นผู้นำประเทศ บริษัท…ประเทศ…จะได้เจริญมั่งคั่ง กำไรดี ประชาชนในฐานะเจ้าของ
ประเทศ จะได้ร่ำรวยไปด้วย

ผมไม่เห็นด้วยแต่ก็ชอบในข้อเปรียบเทียบนี้ เพราะถ้าพิจารณาให้ดี ให้ถูกต้อง จะทำให้เรา
มองเห็นและเข้าใจในบทบาทของแต่ละคนในฐานะเจ้าของประเทศได้ดีขึ้น

ถ้าเปรียบเทียบประเทศไทยเป็นบริษัท ประชาชนคนไทยกว่า ๖๓ ล้านคน ก็คือผู้ถือหุ้น และ ส.ส.
คือ ตัวแทน ที่ผู้ถือหุ้นเลือกไปให้เป็นกรรมการบริหาร (คณะรัฐมนตรี ) กรรมการตรวจสอบ ( ฝ่ายค้าน )
คล้ายๆอย่างนั้นละครับ

การดำเนินธุรกิจของบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายมักจะมีการแบ่งธุรกิจออกเป็นส่วนๆเรียกว่า
“ business unit ” แต่ละ unit จะเป็นเอกเทศในการบริหาร ทุก unit อยู่ภายใต้การควบคุมและกำกับ
ดูแลของคณะกรรมการบริหารที่แต่งตั้งโดยผู้ถือหุ้น

บริษัทสร้างกำไรจากผลกำไรรวมของ business unit ขณะเดียวกัน แต่ละ unit ก็มีการค้าขายซึ่ง
กันและกัน การกำหนดราคาซื้อขายระหว่างกันจึงขึ้นอยู่กับว่าผู้บริหารสูงสุดต้องการให้ใครมีต้นทุนต่ำ
ทำกำไรได้มาก หรือต้นทุนสูงทำกำไรน้อยหรือแม้แต่จะยอมให้ขาดทุนเพื่อหวังผลทางด้านภาษี

บริหารไม่ยากเพราะผู้บริหารคุม business unit ได้หมด

ต่างจากบริษัทประเทศไทยครับ

ประเทศไทยถ้าจะเป็นบริษัท ก็ต้องเป็นบริษัทขนาดใหญ่และเป็นบริษัทที่มี business unit
จำนวนมากและมีความหลากหลาย ที่ยากลำบากในการบริหารเพราะผู้บริหารบริษัทประเทศไทยไม่มี
อำนาจเบ็ดเสร็จในการควบคุมทุก business unit ( เขียนมาถึงตรงนี้แล้ว ท่านผู้อ่านคงจะจำยุค
สมัยระบอบทักษิณได้ดีว่า เขาพยายามทำทุกอย่างเพื่อที่จะควบคุมทุก business unit ให้ได้ เพื่อนร่วม
งานต้องกลายเป็นลูกจ้าง ผู้ว่าราชการจังหวัด เอกอัครราชฑูต กลายเป็น ซีอีโอ ภายใต้การบังคับ
บัญชาทั้งหมด )

เพราะ business unit ของประเทศมีหลายเจ้าของครับ ถ้า business unit นั้นเป็นหน่วย
ราชการก็จัดได้ว่าเป็นของประชาชน ถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจแท้ๆก็ใช่เช่นกัน แต่ถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจพันทาง
( เช่น ปตท.)ก็มักจะเป็นปัญหา

บทบาทของผู้บริหารประเทศ จึงต่างจากบทบาทของผู้บริหารบริษัทอย่างสิ้นเชิง ผู้บริหารสูงสุด
ของประเทศสามารถกำหนดนโยบายที่จะให้แต่ละ business unit ( ของใครก็ไม่รู้ ) กำไรมากหรือกำไร
น้อย ต้นทุนต่ำหรือต้นทุนสูงได้ อำนาจล้นฟ้าจริงๆ

ตัวอย่าง เช่น

“ ข้าว ” สินค้าที่สำคัญตัวนี้อาจมีหลาย business unit ได้แก่ผู้ผลิต (ชาวนา ) ผู้แปรรูป (โรงสี)
ผู้จำหน่ายไปยังต่างประเทศ (ผู้ส่งออก) ผู้จำหน่ายภายในประเทศ (ร้านขายปลีกทั่วไป)แต่ละ business
unit มีการค้าขายซึ่งกันและกัน ชาวนาขายข้าวให้โรงสี โรงสีขายข้าวให้ผู้ส่งออก ผู้ส่งออกขายข้าวไป
ยังต่างประเทศ

ผู้บริหารจะกำหนดราคาซื้อขายระหว่างกันของ business unit นี้อย่างไร ? หรือจะปล่อยให้เป็น
ไปตามกลไก เป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจอย่างใจเป็นธรรมและเข้าใจในปัญหาอย่างครบถ้วน สภาพบ้าน
เราวันนี้ ผู้ส่งออกขายข้าวได้ราคาดีแต่ชาวนาต้องเดินขบวนเพราะขายข้าวแล้วขาดทุน ชี้ให้เห็นนโยบาย
ของผู้บริหาร( รัฐมนตรี ) ว่าถ้าไม่ลำเอียงก็ทำงานผิดพลาด

เช่นเดียวกับ “ เอทานอล ” สินค้าตัวนี้ก็มีหลาย business unit เช่นกัน เริ่มต้นที ผู้ผลิต
(ชาวไร่อ้อย) ผู้แปรรูป (โรงงานเอทานอล) ผู้เพิ่มมูลค่าเพิ่ม (โรงกลั่น) ผู้จัดจำหน่าย (บริษัทค้าน้ำมัน)

ปัญหามีเหมือนเดิมว่า เมื่อราคา “เอทานอล ” ในต่างประเทศมีราคาสูง เราจะกำหนดราคาใน
ประเทศอย่างไร และยังมีคำถามเพิ่มอีกว่าใครจะเป็นผู้กำหนด เพราะในขบวนการนี้มี business unit
ที่เป็นทั้งของรัฐและของภาคเอกชน ผู้บริหารสูงสุดจะกำหนดนโยบายให้ใครมีกำไร เอกชน หรือ
รัฐบาล ???

ผู้บริหารบริษัทประเทศไทย(รัฐมนตรี) ถ้าเก่งจริงจะสามารถกำหนดบทบาทของแต่ละ business
unit ให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดกับบริษัทประเทศไทยเป็นส่วนรวม เมื่อบริษัททำกำไรได้ดี
จะมีเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น(ประชาชน) ในรูปแบบของการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ( เก็บภาษีได้มาก
เพราะมีกำไรดี นำเงินมาพัฒนาประเทศได้ เช่น เรียนฟรี ประกันสุขภาพถ้วนหน้า สวัสดิการผู้สูงอายุ )

แต่มันไม่ง่ายอย่างคิดหรอก ผลประโยชน์มีมากมหาศาล

ผู้บริหารสูงสุดของประเทศจึงต้องมีคุณสมบัติพิเศษ นอกจากต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้งแล้ว ยังต้องมีความเข้าใจในกลไกของธุรกิจด้วย ไม่ใช่นึกจะตั้งใครก็ได้ อย่าลืมว่าหน้าที่สำคัญของการ
เป็นผู้บริหารสูงสุดคือการกำหนดการแบ่งสรร ปันส่วน ระหว่าง business unit ทั้งที่เป็นของรัฐโดยตรง
และ การกำหนดนโยบายที่จะให้ business unit ของเอกชนได้มีความเสมอภาคในการแข่งขัน พูดง่ายๆ
คือต้องไม่ลำเอียง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

มีตัวอย่างให้ดูอีกครับ

ปตท. เป็นบริษัทประเภทครึ่งผีครึ่งคน เป็นรัฐวิสาหกิจแต่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มี business
unit ที่ค้าขายก๊าซธรรมชาติ ซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัฐฯได้เพียงผู้เดียวเพราะ business unit นี้เดิมเป็น
ของรัฐบาล ตอนนั้นจะขายก๊าซให้ใคร ราคาเท่าไหร่ รัฐฯกำหนดได้ ตอนนี้เป็นบริษัทในตลาด ทำ
ธุรกิจได้อย่างเสรี ขายก๊าซให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ขายแพง (ประชาชนเลยต้องใช้ไฟฟ้าแพง) แต่พอ
ขายก๊าซให้โรงงานเปโตรเคมิคัล ที่ตนเองถือหุ้นใหญ่ กลับขายในราคาถูกกว่า สร้างกำไรให้ business
unit ของตัวเอง รัฐได้แต่นั่งเฉย มองตาปริบๆ ทำอะไรไม่ได้ หรือเวลาปตท.ซื้อเอทานอล จะกำหนด
ราคาโดยใช้ราคาตลาดต่างประเทศ ทำให้ราคา gasohol สูง ทำกำไรให้กับ business unit ตนเองเป็นต้น

ในอดีต ปตท.กำไรไม่มีใครว่าเพราะกำไรเท่าไหร่ส่งเงินเข้าคลังหมด เดียวนี้เป็นบริษัทในตลาด
ฝรั่งหัวขาวหัวดำเป็นเจ้าของปตท.เกือบครึ่ง ทำให้กำไรส่งหลวงไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ตอนรัฐฯขาย
หุ้นออกไปก็ขายราคาถูกกว่าปัจจุบันกว่า ๑๐ เท่าตัว เป็นผลงานของระบอบทักษิณ เดาได้ไม่ยาก

สิ่งที่ผู้เขียนของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นห่วง เป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ ที่อธิบายได้โดยการ
นำการบริหารของธุรกิจมาเปรียบเทียบ

เป็นการตอกย้ำให้เห็นได้ชัดมากขึ้นถึงความสำคัญที่ผู้ถือหุ้น( ประชาชน ) ต้องช่วยกันค้นหา
ช่วยกันสนับสนุนคนดีมาเป็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัทประเทศไทย อย่าลืมว่าเราต้องการเป็นผู้ถือหุ้น
ตลอดชีวิตและไม่คิดขายหุ้นให้กับใคร ใช่ไหมครับ.

แบ่งปันเรื่องราว:
  • Print
  • del.icio.us
  • Facebook
  • email
  • PDF
  • Twitter

Tags: , ,

Comments are closed.

Twitter

TwitPic

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
Korbsak.com
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ค้นหา