3G ยังไม่จบ

Mon, Jul 26, 2010

English | เศรษฐกิจ

3G ยังไม่จบ

ผมได้คุยเรื่องของ 2G และ 3G ไว้เมื่อปลายปี ๒๕๕๒    1-2-3 GO (3G) ตอนจบ ผ่านมาเกือบครบหนึ่งปี   โครงการ 3G ยังไม่เกิด   ปัญหาสัญญาสัมปทานของเอกชนที่มีกับองค์การโทรศัพท์และการสื่อสารเหมือนเดิม

วินาทีนี้ดูเหมือนว่าจะมีการประมูล 3G อีกไม่นานเกินรอ   ส่วนของรัฐฯ ก็ขันแข็งกับการแก้ปัญหาสัญญาสัมปทานที่คาราคาซังกันไว้หลายรัฐบาล    คาดว่าแนวทางการแก้ไขจะได้เห็นหน้าเห็นตากันอีก ๓-๔ สัปดาห์

วันนี้มีข้อมูลที่ได้เสาะแสวงหาช่วงวันหยุดยาวมาคุยให้ฟัง  ท่านผู้อ่านจะได้เข้าใจและวิเคราะห์ได้ถูกว่า ประเทศไทยกำลังเดินไปถูกทางหรือไม่  กับเรื่องของเทคโนโลยีไร้สาย  ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตของเราไปเสียแล้ว

ตัวเลขล่าสุดคนไทยใช้โทรศัพท์มือถือ ๖๖ ล้านเลขหมาย  ประเภทจ่ายก่อน โทรทีหลัง ประมาณ ๕๘ ล้านเลขหมาย  ส่วนที่เหลือเป็นแบบจ่ายรายเดือน  เพียงประมาณ ๘ ล้านเลขหมายเท่านั้น

ประชากรคนไทยของเรามี ๖๓ ล้านคนเศษ   เป็นผู้ที่อยู่ในวัยที่มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า ๔๕ ล้านคน  ดูตัวเลขอย่างนี้แล้วคงจะไม่ผิดที่บอกว่า  คนไทยมีโทรศัพท์มือถือน่าจะครบแล้วทุกคน

รายได้ของธุรกิจรวมแล้วประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี  เป็นรายได้รวมของธุรกิจทั้งส่วนของเสียงตาม (ไร้) สายและที่ส่งเป็นข้อมูล   รายได้ของผู้ประกอบการที่เป็นรายได้จากบริการการส่งข้อมูลอยู่ที่ประมาณ ๒๕,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี   คิดเป็นร้อยละ ๒๐ ของรายได้รวมทั้งหมด    เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ชี้ให้เห็นว่า คนไทยใช้โทรศัพท์เพื่อส่งข้อมูลไม่น่าจะเกินร้อยละ ๒๐ ของการใช้พูดคุยเท่านั้น (ตัวเลขจริงอาจน้อยกว่านี้มาก)

จากตัวเลขเบื้องต้นเริ่มมองออกว่าอนาคตของ 3G ( บริการเพื่อใช้ส่งข้อมูล ) จะไม่สดใสในช่วงเริ่มต้น   (มีผู้ใช้บริการไม่มาก)

ข้อมูลทางเทคนิคของ 3G และ 2G ที่น่าสนใจนอกเหนือจากที่กล่าวมายังมีอีกครับ

ทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจไร้สายความเร็วสูงกันสักนิดก่อน

คนที่ใฝ่ฝันอยากใช้ระบบ 3G เพราะเขาชอบความเร็วของระบบครับ   ระบบ 3G ทำให้สามารถรับส่งข้อมูล  ดู you tube อ่าน email ดาวน์โหลด อัปโหลดรูปถ่าย  จาก smart phone  หรือ notebook ได้แบบสบายๆ

ความจริงถ้านั่งเล่นคอมพ์อยู่ที่บ้านหรือที่ทำงานโดยใช้ระบบบรอดแบนด์ความเร็วสูง   3G ก็ไม่มีความหมายเท่าไหร่หรอก   ที่อยากได้  3G ก็เฉพาะเวลาอยู่นอกบ้าน  ออกพื้นที่  ไม่ได้นั่งอยู่ที่ทำงาน  ความเร็วของระบบกลายเป็นสิ่งสำคัญ   3G  มีประโยชน์มากน้อยเพียงใดจึงขึ้นอยู่กับความประพฤติ   การดำเนินชีวิตของผู้บริโภคนั่นเอง

ประเทศที่พัฒนาแล้วมีแน้วโน้มสูงว่าจะมีลูกค้า  3G มากเพียงพอ    3G ให้ความสดวกสบาย  มี smartphone  notebook  อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ตลอดเวลา   สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา    ความต้องการของลูกค้าจะต่างกัน

น่าจะตอบคำถามได้ในระดับหนึ่งว่าธุรกิจ 3G  เสี่ยงมากน้อยสำหรับนักลงทุนเพียงใด ในประเทศที่กำลังพัฒนาเช่นประเทศไทย

แล้วระบบ 2G ล่ะ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร

หลายประเทศทั่วโลกใช้ระบบ 2G   สัญญาสัมปทานของรัฐฯ กับเอกชนก็เป็นระบบนี้   ใช้คลื่นความถี่ 900 1800 MHZ spectrum

สัญญาสัมปทานทำกันไว้ในอดีตไม่ค่อยจะดีนัก    สร้างปัญหามากมาย  ฟ้องร้องกันวุ่นวายไปหมด    ขณะนี้รัฐฯ กำลังหาแนวทางเพื่อแก้ไข  อยากให้เกิดความเป็นธรรม  ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ     ธุรกิจนี้จะเดินได้หน้าต่อเพื่อประโยชน์สูงสุดของคนในประเทศ

พูดนั้นง่าย   แต่ทำให้เกิดขึ้นได้จริงแสนยาก  การแก้ไขสัญญาสัมปทานต้องเห็นชอบทั้งสองฝ่าย   รัฐฯ อยากแก้  คู่สัญญาเขาไม่ยอมก็เดินต่อได้ยาก

สัญญาสัมปทานที่ทำกันไว้มีจุดอ่อนที่เหมือนกันคือ    เมื่อสัญญาสิ้นสุดลง    ถ้าไม่มีการต่อระยะเวลาออกไป  ผู้ประกอบการต้องม้วนเสื่อกลับบ้าน   ทุกรายไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจครับ   ใบอนุญาตประกอบการจึงเป็นที่ต้องการสูงสุดเหนือสิ่งอื่นใด

รัฐฯ จึงมีข้อเสนอ   เสนอว่าทั้งสองฝ่ายมายุติสัญญาสัมปทานเส็งเคร็งนี้กันดีกว่า    แล้วรัฐฯ จะออกใบอนุญาตให้  เป็นใบอนุญาต 2G    ออกแทนที่ตามอายุสัญญาได้เลย  กทช.เห็นด้วยแน่นอน   และรัฐฯยังพร้อมจะหารือ กทช. ให้ออกใบอนุญาตที่มีระยะเวลานานเกินกว่าอายุของสัญญาที่เหลืออยู่     เช่นใบอนุญาตให้มีระยะเวลานานถึง ๑๕ ปี   ถึงแม้ว่าสัญญาสัมปทานเดิมอาจเหลืออายุเพียง ๕ ปี ๘ปี ก็ตาม

นโยบายการแก้ปัญหาดูเข้าท่าดี   การคำนวนรายได้ส่งรัฐฯก็เป็นตัวเลขที่อาจมีข้อยุติที่ไม่ยากเกินไปนัก   เจรจาข้อตกลงให้โปร่งใสก็น่าจะทำได้      ความยากของเรื่องไปอยู่ที่ใบอนุญาต    เพราะการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจไม่ใช่อำนาจของรัฐฯ แต่เป็นอำนาจของกทช. รัฐฯเสนอได้   แต่ออกใบอนุญาตให้ไม่ได้

ย้อนกลับมาดูเรื่องเทคนิคของระบบ 2G  กันอีกเล็กน้อย

คลื่นที่ใช้ของระบบ 2G คือ 900   1800 MHZ spectrum   วันนี้เทคนิคสมัยใหม่ไปไกลถึงกับว่า  ผู้ประกอบการสามารถนำคลื่นนี้มาใช้กับระบบ 3G  4G  ได้ เรียกว่า refarming   นี่คือปัญหาปวดหัว  เพราะกลายเป็นว่ามีคลื่นสำหรับ 2G แต่สามารถนำมาแบ่งใช้เป็น 3G 4G ได้   ไม่ใช่แค่ใช้ได้เฉยๆ   แต่ใช้ได้อย่างดีเสียด้วย      เทคโนโลยี่เดินหน้าเร็ว   ทำงานแบบช้าวชามเย็นชามตามโลกไม่ทันแน่ๆ

ข้อดีของ 3G บน  900 1800  MHZ  spectrum ถ้าจะเปรียบเทียบกับ 3G บน  2,100  MHZ  (กทช.กำลังจะประมูลในเร็ววันนี้)  มีหลายแง่มุม    ตัวอย่างเช่นในทางเทคนิค เสา ( tower base station) สามารถตั้งอยู่ในระยะที่ห่างกว่าของระบบ  3G  – 2,100 MHZ    มี tower base station น้อยจุด  ย่อมใช้เงินลงทุนที่น้อยกว่า   หรือ  900 1800 spectrum มีคุณสมบัติในการทะลุทะลวงกำแพงคอนกรีตได้ดีกว่า 2,100  MHZ   ประสิืทธิภาพในการใช้งานจึงเหนือกว่า

กลายเป็นว่า  ถ้าวันนี้ผู้ประกอบการได้ใบอนุญาตระบบ 2G  และได้รับอนุญาตให้แบ่งใช้คลื่น 900 1800 MHZ spectrum กับระบบ 3G 4G ได้    อาจเป็นสิ่งที่ดีสุด   เพราะลงทุนน้อยกว่า     ผู้ประกอบการสามารถบริหาร  2G  3G  4G ในอนาคต ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  มีความยืดหยุ่น   สอดคล้องและเหมาะกับความต้องการของลูกค้าโดยเฉพาะลูกค้าบ้านเรา

ท่านผู้อ่านที่มีพื้นฐานอยู่บ้างคงเข้าใจสิ่งที่ผมพยายามสื่อได้ไม่ยากเกินไปนัก  ที่เหลือขอเป็นถามตอบ Q&A เพื่อความเข้าใจง่ายๆได้อย่างนี้ครับ

Q.     2G  จะยังคงมีอยู่ในเมืองไทยอีกนานไหม?

A.     ถ้ายกเลิกแล้วมือถือของพวกเรา 40-50 ล้านเครื่องจะเอาไปไว้ไหนครับ   ชัดเจนว่า 2G ยังต้องอยู่กับเราอีกนาน อยากใช้  3G  ต้องซื้อมือถือใหม่ครับ

Q.     ผู้ประกอบการ 3G  โอนลูกค้าจาก 2G มา 3G    ทำให้รัฐฯ ขาดรายได้   จะแก้อย่างไร

A.     ผมไม่มีคำตอบ  รู้เพียงว่าถ้าลูกค้าอยากเปลี่ยนมาใช้ 3G  โอนเบอร์เดิมได้แต่ต้องซื้อมือถือใหม่ที่เป็นระบบ 3G   จะมีลูกค้าซักกี่รายที่ทำได้    ผู้ประกอบการอาจมีแคมเปญลดราคามือถือ 3G  ก็ย่อมเป็นไปได้   จะคุ้มหรือไม่  ต้องดีดลูกคิดให้ดี

Q.     ทำไมผู้ประกอบการต้องร่วมประมูล 3G  ด้วยถ้ามีโอกาสได้ใบอนุญาต 2G  ถึง ๑๕ ปี

A.     ได้อันไหนก่อนก็เอาอันนั้น  ถ้า 2G มาก่อนและอนุญาตให้ refarm  900  1800  spectrum เพื่อใช้ 3G  4G ได้  ก็อาจไม่สนใบ     อนุญาต 3G – 2100 MH   แต่ถ้า 3G เกิดเร็ว  ต้องประมูลไว้ก่อน  อนาคตไม่มีอะไรแน่นอน จะได้ไม่พลาดแล้วเสียใจในภายหลัง (ขออนุญาตเดาใจผู้ประกอบการ )

ปวดหัวดีเหมือนกันครับ  หนังเรื่องนี้คงยาว  never ending story  ต้องรอดูกันต่อไป

ข้อมูลที่นำมาใช้อาจไม่ครบ ไม่สมบูรณ์ ก็ต้องขออภัย  ประเด็นหลักๆ คงไม่ต่างไปจากที่นำเสนอเท่าไหร่นัก

ส่งกำลังใจให้พวกเดียวกันที่เป็นผู้รับผิดชอบเรื่่องนี้   งานนี้หิน   ยากจริงครับๆ

ข้อมูล:   http://www.telecomcircle.com/

http://www.telecomcircle.com/http://www.hindustantimes.com

http://thailand-business-news.com/markets/17087-thailand-reaches-66-million-mobile-phone-numbers/

แบ่งปันเรื่องราว:
  • Print
  • del.icio.us
  • Facebook
  • email
  • PDF
  • Twitter

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.

Twitter

TwitPic

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
Korbsak.com
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ค้นหา